ก.อุตฯ เตรียมรายงาน “สมคิด” พรุ่งนี้ อวด 9 มาตรการ 3 กองทุน ยอดขอจาก SMEs ทะลุ 35,000 ล้านบาท

ก.อุตฯ เตรียมรายงาน “สมคิด” พรุ่งนี้ (4 เม.ย.) อวด 9 มาตรการ 3 กองทุน ยอดขอจาก SMEs ทะลุ 35,000 ล้านบาท

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า พรุ่งนี้ (4 เม.ย.2561) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เตรียมตรวจเยี่ยมและติดตามงานรวมถึงกำหนดภาระกิจและมอบนโยบายให้กับ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสาระสำคัญ จะเน้น 2 เรื่องหลัก คือ มาตรการขับเคลื่อน SMEs 4.0 และการจับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)

โดยมาตรการแรกสำหรับใช้ขับเคลื่อน SMEs 4.0 นั้น จะมุ่งไปยังเรื่องของการใช้ 9 มาตรการที่ได้กำหนดเอาไว้ เช่น โครงการหลักๆ อย่าง ศูนย์ส่งเสริมสนับสนุน SMEs 4.0 ใช้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC)

การสร้างผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษา SMEs (train coach) 2,000 คน ขึ้นมาช่วยแนะนำหรือสอนการผลิตให้ SMEs และสร้างฐานข้อมูลพื้นฐาน SMEs ขนาดใหญ่ (big data) การให้บริษัทรายใหญ่เป็นพี่เลี้ยงบ่มเพาะ SMEs สู่ตลาดโลก (big brother) ขณะเดียวกันใช้ digital platform B2B หรือ T-Good Tech ขึ้นมาเพื่อให้ SMEs สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายออนไลน์สากลเพื่อเปิดตลาด ข้อมูลธุรกิจ เจรจากับต่างประเทศ เป็นต้น

ส่วนการขับเคลื่อนโดยการช่วยเหลือทางด้านการเงินที่ต้องรายงาน ได้แก่ 1.สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 50,000 ล้านบาท ดูแลบริหารโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Bank) ซึ่งจะมุ่งเป้าหมายไปยังอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป พัฒนาการท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชน และหมู่บ้านสร้างสรรค์ (CIV) มียอดคำขอไปแล้ว 15,800 ล้านบาท

Advertisment

2.สินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท ดูแลบริหารโดยธนาคารออมสิน เป้าหมายจะเน้นไปยัง SMEs กลุ่มที่เป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ใช้เป็นทุนในการปรับเปลี่ยนการผลิตให้มีศักยภาพไปสู่ 4.0 มียอดคำขอไปแล้ว 15,828 ล้านบาท

3.โครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก (Micro SMEs) วงเงิน 8,000 ล้านบาท ) ดูแลบริหารโดย SME Bank และกระทรวงอุตสาหกรรม เป้าหมายคือรายที่ประสบปัญหาทางการเงินเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก วงเงินส่วนนี้แบ่งออกจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กองทุน 20,000 ล้านบาท) ที่มีอยู่ปัจจุบันเรียบร้อยแล้ว มียอดคำขอไปแล้ว 2,715 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเตรียมรายงานการจับเคลื่อนด้วย อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งที่ผ่านมาได้ผ่าน ครม. เห็นชอบเรียบร้อยแล้ว คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอีก2 อุตสาหกรรมที่เตรียมเสนอ ครม. คือ อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร
“เราต้องอัพเดตเรื่องของอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ชัด เพราะมันจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าไทยพร้อมด้านไหน สนับสนุนอะไรที่ขัดเจนให้กับนักลงทุน มันคือมาตรการและสิทธิประโยชน์ที่เราใช้จูงใจให้เกิดการลงทุน และเพื่อให้ได้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพื่อพัฒนาประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน”