
กรมชลฯจับมือธนารักษ์ ลงนาม MOU การบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ นำร่อง 6 จังหวัด
วันที่ 27 กันยายน 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของกรมชลประทาน โดยมีนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นางปรียาพร จันทโรภาส ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามในครั้งนี้
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- MOTOR EXPO 5 วัน ค่ายอีวี BYD ลุ้นแซงโตโยต้า ขึ้นผู้นำขายสูงสุด
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
นายประพิศกล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ กรมชลประทานและกรมธนารักษ์ บูรณาการประสานความร่วมมือในการจัดทำข้อมูลด้านทะเบียนที่ราชพัสดุและข้อมูลการบุกรุกที่ราชพัสดุ โดยกำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของกรมชลประทาน ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน (Zoning) ออกเป็นจำนวน 3 โซน ดังนี้
โซนที่ 1 พื้นที่เพื่อการชลประทานเป็นหลัก
โซนที่ 2 พื้นที่ผ่อนปรน กรมชลประทานยังคงสงวนไว้ใช้ประโยชน์ในการชลประทาน แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ชัดเจน และเห็นชอบร่วมกันให้มีการยินยอมผ่อนปรนให้สามารถนำที่ดินมาจัดให้ราษฎรเช่าเป็นการชั่วคราว ภายใต้เงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดินและระยะเวลาการเช่าที่ทางราชการกำหนด
โซนที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ กรณีกรมชลประทานไม่ประสงค์สงวนไว้ใช้ประโยชน์ในการชลประทานอีกต่อไป ยินยอมส่งคืนให้กรมธนารักษ์นำมาบริหารจัดการตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ
โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ จะเป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงานในการทำงานร่วมกันต่อไป
โดยเบื้องต้นจะดำเนินการในพื้นที่โครงการนำร่อง จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย นครปฐม เพชรบุรี สุรินทร์ และนครนายก สำหรับพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ให้สำนักงานธนารักษ์และหน่วยงานกรมชลประทานที่รับผิดชอบในพื้นที่ ดำเนินการตามแนวทางและมาตรการที่กรมธนารักษ์และกรมชลประทานได้ตกลงร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้