เศรษฐารับโจทย์ ส.อ.ท. 8 ข้อ ฝากการบ้านเอกชนช่วยทำ Action Plan ใน 2 สัปดาห์

เศรษฐารับโจทย์ ส.อ.ท. 8 ข้อ ฝากการบ้านเอกชนช่วยทำแผน Action Plan ใน 2 สัปดาห์ ย้ำห่วงเรื่องน้ำ เตรียมเดินหน้าเอฟทีเอเสริมแกร่งไทยฐานผลิตโลก พร้อมรับดูแลต้นทุนเอกชน ขึ้นค่าแรงเป็น “ไตรภาคี” แก้ปัญหาต้นทุนพลังงาน

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า ท่านนายกรัฐมนตรีได้รับฟังข้อเสนอในการพัฒนาอุตสาหกรรม 8 ข้อจาก ส.อ.ท. พร้อมฝากการบ้านให้ ส.อ.ท. จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) สำหรับกลุ่มทุกอุตสาหกรรมและกลุ่มคลัสเตอร์

เกรียงไกร เธียรนุกุล

โดยแบ่งออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งทาง ส.อ.ท. จะตั้งคณะทำงานรวบรวมและจัดทำวิธีการแก้ไขตามลำดับความสำคัญของปัญหาเป็น Action Plan ให้เร็วที่สุดภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อเสนอให้กับคณะทำงานของนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

“ท่านเน้นย้ำว่าปัญหาที่เราเจอขณะนี้หนักหน่วง คือ ปัญหาภัยแล้งคาดว่าจะเกิดภาวะเอลนีโญที่รุนแรงและกินเวลายาวนาน ต้องมีการบริหารจัดการน้ำรอบด้าน หากไม่เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำส่งผลกระทบความเสียหายเป็นวงกว้างในภาคเกษตรกรรม การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และมาบตาพุดที่มีอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำเยอะ”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีจะเร่งเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพราะปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ ไม่เพียงพอที่จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการดึงดูดการลงทุน ซึ่งไทยมุ่งรักษาการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป โดยไทยต้องยืนหยัดเป็นฐานการผลิตแห่งสุดท้าย หรือ last man standing เพราะถือว่าเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทานมากถึง 6 แสนคน

จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนญี่ปุ่น ผ่านการพูดคุยกับผู้ผลิตในญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารถยนต์สันดาปให้ตอบโจทย์กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าแบบไฮบริดหรือใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 รวมถึงการขยายตลาดใหม่ อาทิ เอเชียตะวันออกกลาง หรืออเมริกาใต้ เป็นต้น เพื่อยืดระยะเวลาของห่วงโซ่อุปทานรถยนต์สันดาปอีก 10-15 ปี

สำหรับข้อเสนอ 8 แนวทาง ได้แก่

1.การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ

2.การพัฒนาบุคลากร เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ โดยปรับอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าควรเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ค่าจ้างไตรภาคี พิจารณาสอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่พร้อมทั้งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดงาน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลน และส่งเสริมการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานครบทุกสาขาอาชีพ

3.การบริหารจัดการด้านพลังงาน ทั้งระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ต้องเร่งพิจารณาทบทวนแผนพลังงานชาติ หรือ National Energy Plan (NEP) ฉบับใหม่ที่ช่วยลดภาระต้นทุนพลังงาน และค่าไฟฟ้า โดยบริหารจัดการสำรองไฟฟ้า (Reserve Capacity) พร้อมทบทวนโครงสร้างพลังงานที่เกี่ยวข้องกับค่า Ft รวมถึงบริหารและจัดสรรก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสม และต้องเร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน)

4.การส่งเสริมการส่งออก การค้า และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) พร้อมเร่งรัด FTA เช่น ไทย-EU, ไทย-EFTA, ไทย-GCC, อาเซียน-แคนาดา, ไทย-US เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับสินค้า Made in Thailand (MiT) ให้ได้รับแต้มต่อเป็น 10% และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับภาคเอกชนให้สามารถนำยอดซื้อมาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ปกป้องสินค้าไทยโดยการควบคุมสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพ

5.การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล สู่ Digital Transformation 4.0 เพื่อยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนวิจัยพัฒนาหรือวิเคราะห์ทดสอบ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการซื้อสินค้าในบัญชีนวัตกรรม เช่น นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าในบัญชีนวัตกรรม มาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

6.การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า และการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

7.การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการออกมาตรการการเงิน เสริมสภาพคล่อง SMEs เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่า (Soft Loan), มาตรการค้าประกันสินเชื่อเพื่อ SMEs, มาตรการพักดอกลดต้น เป็นต้น ปรับอัตราภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs พร้อมจัดตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับ SMEs

8.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Logistics และพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งต้องแก้ไขปัญหาความแออัด ณ บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในรูปแบบ Shift Mode (เรือ-ราง)

นอกจากนี้ ขอให้ยกระดับด่านชายแดนเป็นจุดผ่านแดนถาวร ได้แก่ จุดผ่อนปรนบ้านห้วยต้นนุ่น อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และระหว่างไทย-กัมพูชา ได้แก่ จุดผ่อนปรนการค้าบ้านซับตารี อ.สอยดาว จ.จันทบุรี และปรับปรุงผังเมืองทั่วประเทศ ให้พื้นที่เกษตรกรรมสามารถรองรับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)