ส.อ.ท. เตรียมพบนายกฯ เศรษฐา ชงมาตรการหนุนอุตสาหกรรมไทย 6 ต.ค.

เกรียงไกร เธียรนุกูล

เกรียงไกร นำทีม ส.อ.ท.พบนายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา’ 6 ต.ค. 66 ชงมาตรการหนุนอุตสาหกรรมไทย แก้อุปสรรค เสริมแกร่งความสามารถแข่งขัน

วันที่ 4 ต.ค. 66 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ทาง ส.อ.ท.จะมีโอกาสพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือถึงสถานการณ์ปํญหาที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรม

พร้อมทั้งจะเสนอแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเก่า และอุตสาหกรรมใหม่ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“เราตั้งใจว่าจะพูดคุยเกี่ยวกับการผลักดันอุตสาหกรรมเก่าและใหม่ตามทิศทางที่เราวางแผนไว้ ว่าจะมีการทำงานร่วมกันอย่างไร และหาว่าตรงไหนคือปัญหาและอุปสรรค สิ่งนี้คือ key messages จะไปพูดกับนายกฯในวันศุกร์ที่จะถึงนี้”

ก่อนหน้านี้ ทางส.อ.ท.ได้พบกับนายภูมิธรรมเวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอให้เร่งเรื่องของการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อสร้างแต้มต่อด้านการค้า การส่งออก กองทุนเอฟทีเอ เพื่อช่วยเหลือผู้มีส่วนได้เสีย การค้าชายแดน เพื่อให้มีบริการ ณ จุดเดียวให้ได้ โดยให้กระทรวงพาณิชย์เป็นแกนหลัก

และยังได้มีการพบกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน หารือในประเด็นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยจะผลักดันการดำเนินงานในปี 2567 ภายใต้แนวคิด ‘ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ นายเกรียงไกรได้นำเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ส.อ.ท. ที่มีการขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และอุตสาหกรรมใหม่ หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม

เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมกำลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ และต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล โดยเราได้วิเคราะห์และพบว่าการจะทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอด สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ

1) เปลี่ยนจาก Original Equipment Manufacturer-OEM (ผู้รับจ้างผลิต) เป็น Original Design Manufacturer-ODM (ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัท) และ Original Brand Manufacturer-OBM (ผู้ผลิตภายใต้รูปแบบและตราสินค้าของตนเอง)

2) เปลี่ยนจากใช้แรงงานเป็นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องจักร และระบบ Automation

3) เปลี่ยนจากผลิตเพื่อกำไร เป็นการผลิตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม

4) เปลี่ยนจากแรงงานไม่มีฝีมือ (Unskilled labor) เป็นแรงงานที่มีฝีมือขั้นสูง (High-skilled labor) ผ่านการเสริมสร้างทักษะ