สงครามอิสราเอล ยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจ ไทยอานิสงส์ส่งออกข้าว-อาหารกระป๋อง

New Israeli Shekel banknotes-REUTERS FILE PHOTO
New Israeli Shekel banknotes-REUTERS FILE PHOTO

ทูตพาณิชย์อิสราเอล สรุปสถานการณ์สงคราม-เหตุโจมตี หากยืดเยื้อคาดต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟู และถ้ายุติลงได้ใน 1-2 สัปดาห์ เศรษฐกิจจะกลับมาได้เหมือนที่ผ่านมา ขณะที่อิสราเอลเป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทย จากเหตุที่เกิดโอกาสที่ไทยจะส่งออก กลุ่มอาหาร ข้าวได้เพิ่มจากปัญหาขาดแคลน ส่วนปุ๋ยเคมีภัณฑ์คาดจะมีปัญหาในการส่งออก

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การเหตุโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงผลกระทบต่อการค้า การส่งออกของไทยกับอิสราเอล มองหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจจะส่งผลกระทบต่อในการฟื้นฟู เยียวยาเศรษฐกิจในประเทศอิสราเอล

และหากมองในภาพบวกจะทำให้อิสราเอลมีความต้องการสินค้าอุปโภค-บริโภคเพิ่ม โอกาสของไทยที่จะส่งออกสินค้า อาหารกระป๋อง ข้าว ส่วนไทยอาจจะต้องเจอชะลอนำเข้า เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ และปุ๋ยเคมีภัณฑ์อาจจะมีปัญหาในการผลิตและส่งออก

ลำดับเหตุการณ์

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลาท้องถิ่นประมาณ 06.30 น. ฮามาส ขบวนการอิสลามิสต์ปาเลสไตน์เปิดฉากการโจมตีอิสราเอล ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี ด้วยการยิงจรวดจำนวนมากกว่า 5,000 ลูก จากฉนวนกาซา และส่งนักรบข้ามพรมแดนเข้ามา และจับประชาชนอิสราเอลเป็นตัวประกัน ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาของชาวอิสราเอล หรือวันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) จากเหตุการณ์นับเป็นการถล่มที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดการสู้รบที่รุนแรงและร้ายแรงที่สุดวันหนึ่ง ในภูมิภาคในรอบหลายทศวรรษ

  • ฮามาส กลุ่มติดอาวุธที่ควบคุมฉนวนกาซา ยิงจรวดโจมตีหลายเมืองใหญ่ ๆ ทั่วอิสราเอล และได้ส่งกลุ่มมือปืนที่ข้ามกำแพงกั้น บริเวณชายแดนฉนวนกาซา มาข้ามพรมแดนไปยังอิสราเอลตอนใต้ พร้อมเข้ายึดฐานทัพและจับตัวประกัน
  • หลังจากนั้นเกิดการสู้รบที่ดุเดือดและร้ายแรง ในภูมิภาคในรอบหลายทศวรรษ เหตุการโจมตีเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เกิดขึ้น 50 ปีกับหนึ่งวัน หลังจากกองกำลังอียิปต์และซีเรียเปิดฉากการโจมตีในช่วงวันหยุดยมคิปปูร์ (วันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนายูดาห์) ของชาวยิวหรือชาวอิสราเอล เพื่อที่จะยึดคืนดินแดนที่อิสราเอลยึดครองระหว่างความขัดแย้งช่วงสั้น ๆ ในปี 1967
  • ในช่วงเย็นวันเดียวกัน กองทหารอิสราเอลยังคงปฏิบัติการต่อเนื่องจากกลุ่มฮามาส
  • วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2566 การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป
  • วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2566 โฆษก Israel Defense Force (IDF) กล่าวว่า สามารถควบคุมพื้นที่ชายแดนฉนวนกาซาได้แล้ว แต่ยังมีผู้ก่อการร้ายหลบซ่อนตัวหลงเหลืออยู่ให้เฝ้าระวัง ในขณะที่ภาคเหนือเขตเวสต์แบงก์เริ่มเหตุการณ์ไม่สงบ

ยอดผู้ได้รับผลกระทบ

นับจากสงครามวันแรก มียอดผู้เสียชีวิตกว่า 800 คน และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน ฮามาสจับเป็นตัวประกัน 100 คน

การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล

  1. ปัจจุบันอิสราเอลเป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทย และอันดับ 6 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง
  2. ในปี 2566 (มกราคม-สิงหาคม) การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล มีมูลค่า 856.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัว ร้อยละ 1.15) โดยไทยส่งออกไปอิสราเอล 545.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 12.62) และนำเข้าจากอิสราเอล 311.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 14.18)
  3. ในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล มีมูลค่า 1,401.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 9.96) โดยไทยส่งออกไปอิสราเอล 850.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 2.92) และนำเข้าจากอิสราเอล 551.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 22.9)

สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปอิสราเอล 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และข้าว เป็นต้น

สินค้านำเข้าสำคัญจากอิสราเอล 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และผักผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ เป็นต้น

ผลกระทบต่อไทย

1.ด้านแรงงาน มีแรงงานไทย 29,000 คน ที่ทางานเกษตรในอิสราเอล มีแรงงานไทยหลายคนได้รับอันตรายเสียชีวิตและถูกจับเป็นตัวประกัน

2.ด้านการค้าการนำเข้า-ส่งออกจากไทย แม้ว่าอิสราเอลจะมั่นใจว่าจะชนะสงครามครั้งนี้ แต่ก็ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก กระทรวงการคลังอิสราเอลประมาณการว่าเศรษฐกิจอิสราเอลได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง มูลค่าความเสียหายหลายพันล้านเชเกล

และนอกเหนือจากผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณด้านกลาโหมแล้ว กระทรวงการคลังประสบปัญหาการอ่อนค่าของเงินสกุลเชเกล และการจัดอันดับเครดิตทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ซึ่งในการปฏิบัติการทางทหารครั้งก่อน ไม่ส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลและเงินเชเกลยังคงมีเสถียรภาพ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติได้เรียนรู้ว่าไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไปกับสถานการณ์ความมั่นคงในอิสราเอล ซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนว่าสงครามครั้งนี้รุนแรงมาก อาจยาวนานและยากขึ้น โดยที่เศรษฐกิจอิสราเอลอยู่ในช่วงเวลาที่อ่อนไหว

อีกทั้งการปฏิรูประบบตุลาการของรัฐบาลก่อให้เกิดความกังวลในตลาดหุ้นรวมกับสถานการณ์ความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์และความแตกแยกทางสังคมและการเมืองของอิสราเอลจะกระตุ้นให้ค่าเงินเชเกลอ่อนค่าลง เมื่อเศรษฐกิจอิสราเอลได้รับผลกระทบจากสงครามย่อมกระทบต่อการค้าการลงทุนกับต่างประเทศรวมทั้งการค้ากับไทย

หากสงครามสามารถยุติลงได้ใน 1-2 สัปดาห์ อิสราเอลจะสามารถฟื้นฟูเยียวยาประเทศและเศรษฐกิจได้เหมือนที่ผ่านมา แต่หากสงครามยืดเยื้อก็ต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของธุรกิจ

ผลกระทบเชิงบวก

โอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นจากภาวะสงครามและการขาดแคลนสินค้า ประเทศไทยอาจมีโอกาสส่งออกสินค้าจำเป็นไปยังอิสราเอลเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์

ผลกระทบเชิงลบ

  1. ปัญหาการขนส่งสินค้าไทยไปยังประเทศอิสราเอลอาจจะล่าช้าและราคาค่าขนส่งแพงมากขึ้น
  2.  สินค้านำเข้าจากอิสราเอลมายังไทย เช่น เพชร ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เป็นต้น อาจมีปัญหาในการผลิตและการส่งออกจากอิสราเอล
  3. แม้ไทยอาจจะส่งออกสินค้าอาหารได้เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพไปตลาดอิสราเอล อาจชะลอลงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอิสราเอลลดลง เนื่องจากภาวะสงคราม เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ
  4. นักธุรกิจอิสราเอลอาจชะลอการเดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทย

แนวทางการรับมือ

  1. ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่เกี่ยวข้องทุกวัน และวิเคราะห์ผลกระทบ รวมถึงแนวทางแก้ไขให้ทันต่อเหตุการณ์
  2. หารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไข
  3. ศึกษาโอกาสส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย เพื่อทดแทนตลาดอิสราเอล หากสงครามยืดเยื้อรุนแรง