สงครามอิสราเอล-ฮามาส พายุลูกใหม่ กดดันสินทรัพย์เสี่ยงผันผวนหนัก

ตลาดหุ้น

บล.เอเซีย พลัส ชี้สงคราม “อิสราเอล-ฮามาส” พายุลูกใหม่ กดดันสินทรัพย์เสี่ยงผันผวนหนัก สัญญาณฟันด์โฟลว์วิ่งไหลเข้าพักสินทรัพย์ปลอดภัย นำโดย “ทองคำ” ปรับตัวขึ้นไปแล้ว จับตา “เงินเฟ้อ” หากราคาน้ำมันขยับตัวขึ้น-เหตุการณ์ยืดเยื้อ กางหุ้นหลบภัยจากแรงขายต่างชาติ

วันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากพอที่จะเห็นความผันผวนในตลาดการเงินเบาลง และคาดหมายว่าจะช่วยลดความผันผวนของตลาดหุ้นไทยได้ แต่ด้วยเหตุการณ์การสู้รบรุนแรงระหว่างอิสราเอล-ฮามาสในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกเหมือนว่า “พายุลูกใหม่” กำลังก่อตัวขึ้นมา

ทั้งนี้ ในประเด็นของอิสราเอล-ฮามาส จนถึงปัจจุบันยังไม่เห็นพัฒนาการในเชิงบวก อีกทั้งยังต้องรอดูว่าสถานการณ์จะมีการขยายวงหรือไม่ เนื่องจากแต่ละฝ่ายก็มีพันธมิตรสนับสนุน ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน เชื่อว่าน่าจะทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าไปพักในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

โดยเริ่มเห็นหัวขบวนอย่าง “ราคาทองคำ” ปรับตัวนำขึ้นไปแล้ว และในทางตรงข้ามก็น่าจะทำให้ฟันด์โฟลว์ยังไม่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ “ราคาน้ำมัน” ที่ดูเหมือนมีการขยับตัวขึ้นมาอีกครั้ง อาจจะดีต่อราคาหุ้นในกลุ่มน้ำมัน แต่หากเหตุการณ์ยืดเยื้อก็ต้องมองต่อไปที่ “เงินเฟ้อ” อีกรอบหนึ่ง

เสี่ยงบานปลาย กดดันสินทรัพย์ผันผวนหนัก

จากความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์กลับมาอีกครั้ง หลังกลุ่มฮามาส (ชาวปาเลสไตน์) โจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัวในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ทำให้เกิดการสู้รับกันอย่างรุนแรงในรอบหลายปี ด้วยปมจุดชนวนเรื่องศาสนา ขณะที่ปาเลสไตน์มีผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มประเทศตะวันออกลาง นำโดยอิหร่าน ส่วนอิสราเอลมีผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มประเทศตะวันตก นำโดยสหรัฐ

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีการลุกลามไปในระดับภูมิภาค อาจเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เสี่ยงขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากประเทศตะวันออกกลางเป็นแหล่งซัพพลายน้ำมันดิบเกือบ 1 ใน 3 ของโลก

ขณะที่ผลกระทบที่ตามมาในช่วงสั้น คาดว่าจะเป็นเซนติเมนต์เชิงลบต่อสินทรัพย์เสี่ยง เพราะเมื่อย้อนไปดูข้อมูลในอดีต จะเห็นได้ว่าช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ มักทำให้ตลาดหุ้นผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เหตุการณ์ยืดเยื้อ อย่างเช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลากยาวนานนับปีตั้งแต่ในช่วงเดือน มี.ค. 2565 จนกดดันตลาดหุ้นร่วงลงหนัก

ทั้งหากมาพิจารณาถึงผลกระทบเชิงเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะไม่รุนแรง เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอันดับที่ 40 ขณะที่ปาเลสไตน์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอันดับที่ 215 (สัดส่วนการนำเข้า-ส่งออกน้อยมาก) นอกจากนี้ ชาวอิสราเอลเดินทางเข้าไทย 8 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 1.59 แสนราย นับจากต้นปี (YTD) คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.89% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด

สรุปความขัดแย้งระหว่างประเทศระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ คาดว่าจะเป็นบรรยากาศเชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงสั้น ฝ่ายวิจัยแนะนำหุ้นกลุ่ม Selective อาทิ PTTEP, PTTGC, GULF, BGRIM, ADVANC, TRUE

หาหุ้นหลบภัย จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีปัจจัยภายนอกที่กดดันตลาดหุ้นหลายอย่าง ทั้งความเสี่ยงเกิดภาวะถดถอยในบางประเทศ, บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับขึ้นแรง, การปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ และสหรัฐเสี่ยงเกิด Government Shutdown หนุนให้เม็ดเงินไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง Dollar Index ตั้งแต่ ส.ค. 2566 เป็นต้นมา

โดยตั้งแต่ต้นเดือนนี้ต่างชาติยังคงขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง รวมกว่า 2.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากไต้หวัน 1.5 พันล้านเหรียญ เกาหลีใต้ 700 ล้านเหรียญ ไทย 239 ล้านเหรียญ ฟิลิปปินส์ 45 ล้านเหรียญ และอินโดนีเซีย 1 ล้านเหรียญ

กดดันให้ตลาดหุ้นไทยย่อตัวลงมาอยู่ที่ 1,438 จุด และมี PBV ที่ต่ำเพียง 1.4 เท่า ถือว่าอยู่ในโซนน่าสะสม แต่ตลาดยังผันผวนจากปัจจัยภายนอก และเผชิญกับแรงขายของต่างชาติที่มีต่อเนื่อง ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัยแนะนำสะสมหุ้นหลบความผันผวนจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ

ทั้งจากหุ้นพื้นฐานดีต่างชาติถือน้อย PLANB, COM7, AOT, PTTEP และหุ้นผันผวนต่ำ ปันผลสูง LH, HMPRO, ADVANC เชื่อว่ายังมีโอกาส Outperform ตลาดได้