“พีระพันธุ์” เล็งปรับแนวทางเจรจาพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ตามนโยบายเศรษฐา

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

“พีระพันธุ์” เดินหน้าตามนโยบายเศรษฐา เล็งปรับแนวทางการเจรจาพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชาใหม่จะประสบความสำเร็จ

วันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เรื่องการเจรจาการหาข้อยุติพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา Overlapping Claims Area (OCA) เป็นนโยบายของรัฐบาลกระทรวงพลังงานให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ควรจะต้องมีการปรับแนวทางการเจรจากันใหม่ จากที่ได้ดูข้อตกลงภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) 2544 เพื่อเกิดผลสำเร็จในการเจรจา

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 เรื่องการเร่งรัดเจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา และในวันที่ 28 กันยายน นายกรัฐมนตรีของไทยไทยและคณะได้เดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการ เป็นประเทศแรกในอาเซียน เพื่อหารือกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรี และได้หารือร่วมกันในเรื่องนี้ และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดำเนินการ

สำหรับ MOU ปี 2544 ลงนามโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กับนายชก อัน รัฐมนตรีอาวุโสประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในปี 2544 มีประเด็นที่ทำให้เกิดความล่าช้า และยากต่อการหาข้อยุติ เนื่องจาก มีการกำหนดให้พื้นที่ส่วนที่จะแบ่งเส้นเขตแดนทางทะเล และพื้นที่ที่จะพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกันที่จะต้องดำเนินการทำข้อตกลงไปด้วยกันไม่สามารถแบ่งแยกได้ (Indivisible package)

โดยพื้นที่ส่วนที่ตกลงแบ่งเส้นเขตทางทะเล ซึ่งมีประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตรนั้น ทางฝ่ายกัมพูชาลากเส้นล้ำเข้ามาโดยไม่ได้อิงหลักสากล ตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) ที่ไทยเป็นภาคี ทำให้เมื่อตกลงในส่วนแรกไม่ได้ ก็จะไม่สามารถตกลงในส่วนของพื้นที่พัฒนาร่วมได้ตามที่ระบุในเอ็มโอยู ดังนั้น การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน OCA และการแบ่งเขตแดนต้องแยกออกจากกัน

Advertisment