เปิดสาเหตุ ส.อ.ท.หั่นเป้าผลิตรถปีนี้เหลือ 1.85 ล้านคัน

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

เปิดสาเหตุ ส.อ.ท. หั่นเป้าผลิตรถปีนี้เหลือ 1.85 ล้านคัน หลังตลาดในประเทศอืด ยอดนำเข้าพุ่ง-สินเชื่อไม่ผ่านอื้อ

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ปรับตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิกกลุ่มฯ ในปี 2566 ใหม่เป็น 1,850,000 คัน ลดลง 50,000 คัน จาก 1,900,000 คัน

โดยปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศลดลงจาก 850,000 คัน เป็น 800,000 คัน ลดลงร้อยละ 5.88

หลังภาพรวม 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2566) จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,385,971 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-กันยายน 2565 ร้อยละ 1.61

ทั้งนี้ ปัจจัยของการปรับยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง เพราะการนำเข้ารถยนต์จำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงปรับการเป้าการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง และการจำหน่ายรถยนต์กระบะลดลง เนื่องจากสินเชื่อไม่ได้รับการอนุมัติค่อนข้างเยอะจากหนี้ครัวเรือน เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์จากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ค่าครองชีพที่สูง จึงส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวไม่มาก และการส่งออกสินค้าหลายชนิดลดลงส่งผลให้คนงานมีรายได้ลดลง

สำหรับการผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกันยายน 2566 มีทั้งสิ้น 164,093 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 8.45 เนื่องจากการผลิตเพื่อขายในประเทศผลิตได้ 59,997 คัน ลดลงร้อยละ 17.87 โดยเฉพาะรถกระบะบรรทุกลดลงร้อยละ 47.13 และกระบะสี่ประตูที่ผลิตลดลงร้อยละ 50.25 จากยอดขายรถกระบะที่ลดลง เพราะการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2566) การผลิตเพื่อขายในประเทศผลิตได้ 576,007 คัน เท่ากับสัดส่วนร้อยละ 41.56 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม-กันยายน 2565 ร้อยละ 6.74

สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกันยายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 62,086 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2566 ร้อยละ 2.56 และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 16.27 จากยอดขายรถกระบะที่ลดลงร้อยละ 45 เพราะความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินจากหนี้ครัวเรือนสูง ส่งผลให้ 9 เดือน มียอดขายรถยนต์ภายในประเทศ 586,870 คัน ลดลงจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 7.39

ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกเดือนกันยายน 2566 ผลิตได้ 104,096 คัน เท่ากับสัดส่วนร้อยละ 63.44 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 1.97 ส่วน 9 เดือน ผลิตเพื่อส่งออกได้ 809,964 คัน เท่ากับสัดส่วนร้อยละ 58.44 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 8.52 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป

เดือนกันยายน 2566 ส่งออกได้ 97,476 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 11.33 แต่ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 2.90 เพราะฐานสูงในปีที่แล้วที่ได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วจากการกลับมาทำงานในบริษัทและไม่ต้องเรียนทางไกลเพราะสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง

อย่างไรก็ตาม จากยอดส่งออกที่สูงจึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้ มูลค่าการส่งออก 62,451.33 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 7.49