อินโดนีเซีย เริ่มไต่สวน Safeguard ปกป้องอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศ

กรมการค้าต่างประเทศ เผย หน่วยงานผู้รับผิดชอบการใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measures) ของอินโดนีเซีย หรือ KPPI (Indonesian Trade Safeguard Committee) ประกาศเริ่มการไต่สวนมาตรการ Safeguard สำหรับสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอจำนวน 4 รายการ

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 KPPI ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการด้านมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือ Safeguard ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซีย

ได้ประกาศเปิดการไต่สวนการใช้มาตรการ ตามความตกลงว่าด้วยมาตรการ Safeguard ขององค์การการค้าโลก หรือ WTO กับสินค้าจำนวน 4 รายการ ได้แก่ (1) ด้ายฝ้าย (Cotton Yarn) (2) ผ้าฝ้าย (Cotton Fabrics) (3) ผ้าทอทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ (Woven Fabrics of Artificial Filament Yarn) และ (4) เส้นใยสังเคราะห์ (Artificial Filament Yarn)

โดยมาตรการ Safeguard เป็นการดำเนินการเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจากสินค้านำเข้าที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจนมีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ ด้วยการเก็บอากร Safeguard กับสินค้าดังกล่าวจากทุกประเทศ ซึ่งกรณีอุตสาหกรรมสิ่งทอนับเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์

โดยประเมินจากส่วนแบ่งตลาดในประเทศและจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของอินโดนีเซียที่มีสัดส่วนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ข้อมูลของรัฐบาลอินโดนีเซียระบุว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 14,843 ตันในปี 2562 เป็น 29,908 ตันภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบสถิติการนำเข้าสินค้าทั้ง 4 รายการจากไทย พบว่าในปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าผ้าฝ้าย ผ้าทอทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสังเคราะห์จากไทยต่ำกว่าร้อยละ 3 ของปริมาณสินค้านำเข้าทั้งหมด กรมในฐานะผู้แทนหน่วยงานภาครัฐของไทยจึงได้มีหนังสือแจ้งให้ไทยได้รับยกเว้นจากการใช้มาตรการ กับสินค้า 3 รายการดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามความตกลงข้อ 9.1 ของ WTO ที่กำหนดไม่ให้ใช้มาตรการกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีสัดส่วนปริมาณการนำเข้าไม่เกินร้อยละ 3

สำหรับกรณีสินค้าด้ายฝ้าย ซึ่งอินโดนีเซียมีการนำเข้าจากไทยในสัดส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 3 เพียงเล็กน้อย กรมจึงได้แสดงตนเข้าร่วมในกระบวนการไต่สวน พร้อมทั้งเน้นย้ำให้อินโดนีเซียปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในความตกลง WTO อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ทางการค้าของไทย ทั้งนี้ กรมจะติดตามผลการไต่สวนการใช้มาตรการฯอย่างเป็นทางการของสินค้าทั้ง 4 รายการต่อไป

ปัจจุบันอินโดนีเซียมีการใช้มาตรการ Safeguard กับสินค้า 20 รายการจากทั่วโลก ซึ่งไทยได้รับการยกเว้น 14 รายการ โดยอีก 6 รายการที่ไม่ได้รับการยกเว้นจากการใช้มาตรการ ได้แก่ คอยล์เย็น (Evaporators) น้ำเชื่อม (Fructose Syrup) พรมและสิ่งปูพื้น (Carpets and Other Textile Floor Coverings) ด้ายจากเส้นใยสังเคราะห์ (Yarn [Other than sewing thread] of Synthetic and Artificial Staple Fibre) โฟม EPS (Expansible Polystyrene: EPS) และอุปกรณ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย (Articles of Apparel and Clothing Accessories) เนื่องจากมีสัดส่วนการนำเข้าเกินร้อยละ 3 โดยที่ผ่านมา

สิ่งทอ

กรมได้เข้าร่วมกระบวนการไต่สวนและดำเนินการแก้ต่างให้กับผู้ส่งออกไทยมาโดยตลอด อีกทั้งยังมีการยื่นข้อโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อหน่วยงานของอินโดนีเซียเพื่อขอให้ยุติการใช้มาตรการกับไทย ในกรณีที่สินค้านำเข้าจากไทยมีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 3 เพียงเล็กน้อย และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายในของอินโดนีเซีย

ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกรณีเปิดการไต่สวนของสินค้าทั้ง 4 รายการ ได้ตาม QR Code ที่ปรากฏด้านล่าง และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้มาตรการ สามารถศึกษาข้อมูลเบื้องต้นได้จากเว็บไซต์มาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้า https://thaitr.dft.go.th/th/measure_info/sg/info หรือโทร.สายด่วน 13