ไทยเบียดจีนขึ้นเบอร์ 1 “สวัสดิ์ไพบูลย์” ส่งออกมันล้านตัน

กิตติชัย ตั้งเจริญ
กิตติชัย ตั้งเจริญ
สัมภาษณ์พิเศษ

เมื่อเดือนตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เดินทางร่วมการประชุม Belt and Road Initiative (BRI) ที่ประเทศจีน ภายในงานมีบริษัทผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทยรายหนึ่งเข้าร่วมเซ็นสัญญาขายมันสำปะหลังเส้นให้กับคอฟโก้ รัฐวิสาหกิจ ด้วยปริมาณถึง 5 แสนตัน นั่นคือ “บริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร จำกัด” ยักษ์ธุรกิจส่งออกไทยที่เพิ่งจะผงาดขึ้นมาเป็นเบอร์ 1

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “กิตติชัย ตั้งเจริญ” หรือเสี่ยปู อายุเพียง 45 ปี และภรรยา “สุวารี มุ่งงาม” หรือ ผึ้ง ภรรยาที่มีอายุเพียง 44 ปี ในฐานะกรรมการผู้จัดการ “บริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร จำกัด” เบอร์ 1 ส่งออกไทยที่กวาดยอดส่งออกนิวไฮ ปี 2565 ทะลุ 1.4 ล้านตัน ใช้เวลาเพียงแค่ 7 ปี นับจากที่เริ่มส่งออกลอตแรกเมื่อปี 2559 เพียง 2,000 ตัน

ต่อยอดธุรกิจครอบครัว

“กิตติชัย” เล่าว่า “สวัสดิ์ไพบูลย์” เป็นบริษัทที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2530 ในสายธุรกิจข้าวจะรู้จักโรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์ เพราะมีโรงสีขนาดใหญ่ 2 โรง ใน จ.กำแพงเพชร และพิษณุโลก ธุรกิจโรงสีนั้นเป็นธุรกิจของครอบครัว แต่สวัสดิ์ไพบูลย์ไม่ได้ทำธุรกิจข้าวอย่างเดียว เดิมธุรกิจหลัก คือ ลานมันสำปะหลัง ใน จ.กำแพงเพชร

“จุดพลิกที่บริษัทหันมาส่งออก จากในอดีตที่พ่อแม่เป็นลานมัน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมต้นทุนที่แท้จริงได้ พอราคาขึ้น-ลง เราไม่รู้ตลาด บางทีผลิตไว้พอถึงเวลาส่งราคาลง กว่าจะได้ส่งก็โดนตัดราคา จึงอยากทำให้เป็นอุตสาหกรรม ต้องส่งออกเอง จะได้มีข้อมูลมากกว่านี้ เราได้รับการช่วยเหลือจากกสิกรฯ และเริ่มเดินสายพบลูกค้า เราบอกเขาว่าเราไม่ใช่ผู้ส่งออกที่จะมาเอาเปรียบลานมัน เน้นความสม่ำเสมอ เราบอกว่าเราเป็นคนไทย นี่เป็นอาชีพคนไทยที่ต้องรักษาไว้ เรามาอย่างเพื่อน” สุวารีกล่าว

หลังจากตัดสินใจส่งออก ปี 2559 ได้เริ่มเช่าคลังที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และรวบรวมรับซื้อมันสำปะหลังจากจังหวัดต่าง ๆ คือ กำแพงเพชร ตาก อุบลราชธานี สระแก้ว และนำเข้าจากกัมพูชา และ สปป.ลาว จากนั้นรวบรวมที่รับซื้อทั้งหมดส่งไปฮับที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อลงเรือโป๊ะไปขึ้นเรือใหญ่ส่งออก

“ปีแรก 2559 เริ่มต้นเพียง 2,000 ตันเท่านั้น และเพิ่มขึ้นสูงที่สุดคือ ปี 2565 ที่ทำได้ถึง 1,480,735 ตัน บวกกับตลาดในประเทศอีก 2 แสนตัน รวม 1.7 ล้านตัน เป็นสถิติสูงสุดในช่วงเวลาเพียงแค่ 7 ปี ปัจจุบันรายได้ของธุรกิจสวัสดิ์ไพบูลย์ อยู่ที่ 15,000 ล้านบาท เป็นธุรกิจมันสำปะหลัง 12,000 ล้านบาท และธุรกิจข้าวจากโรงสี 2 โรงอีก 6,000 ล้านบาท”

“ผมใช้หลักว่าค้าขายไม่เอาเปรียบลูกค้า ครั้งหนึ่ง เมื่อปีที่แล้ว ราคาที่เคยไว้ 235 เหรียญสหรัฐ แต่ตลาดขึ้นไป 295 เหรียญสหรัฐ ผู้ส่งออกหลายรายขอขึ้นราคา คอฟโก้รัฐวิสาหกิจจีนกลัวเราทิ้งคอนแท็กต์จะเสียหาย เราบอกว่าสวัสดิ์ไพบูลย์ยินดียืนราคาเดิมพร้อมส่ง ทำให้คอฟโก้มีความมั่นใจว่าได้รับสินค้าตามเวลาที่กำหนด คนอื่นขึ้นราคา เรากลืนเลือด สมมุติขาย 40,000 ตัน ราคาต่าง 60 เหรียญสหรัฐ ขาดทุน 2.4 ล้านเหรียญ คูณอัตราแลกเปลี่ยน เกือบ 100 ล้าน ผมมองว่าการส่งมอบคือหน้าที่และความรับผิดชอบของเรา ไม่ว่าจะเป็นคอฟโก้ หรือรายไหนก็ต้องส่งเมื่อทำสัญญาไว้แล้ว วันนี้คอฟโก้ซื้อเรา 90% ทำสัญญาทั้งปี”

สุวารี มุ่งงาม
สุวารี มุ่งงาม

สงครามรัสเซียคือโอกาส

ขณะที่ “สุวารี” เล่าด้วยว่า ในอดีตมันสำปะหลังเส้นไทยที่ส่งออกไปจีนจะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ทั้งหมด แต่เมื่อปี 2565 ปรากฏว่าเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาธัญพืช รวมถึงข้าวโพดปรับขึ้นสูงมาก ผู้นำเข้าจีนได้ทดลองหันมาใช้มันสำปะหลังผสมเป็นอาหารสัตว์แทนธัญพืช ตามที่เราเคยแนะนำ ทำให้ยอดส่งออกปี 2565 ขยับขึ้นเป็นนิวไฮ ตอนนี้มันสำปะหลังที่ส่งออกไปจีนถูกนำไปผลิตแอลกอฮอล์ 60% และผลิตอาหารสัตว์ 40%

เตรียมส่งคอฟโก้ 5 แสนตัน

ปีนี้ราคาธัญพืชลดความร้อนแรงลง แต่บริษัทได้ทำสัญญาขายมันเส้นให้คอฟโก้ 5 แสนตัน โดยกำหนดให้เสนอราคาลอตต่อลอต ซึ่งจะเริ่มทยอยส่งมอบ เดือนละลำ 40,000-50,000 ตัน เริ่มตั้งแต่ ม.ค. 2567

โดยในปีนี้ช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2566 เราสามารถส่งออกไปแล้ว 1,027,656 ตัน คาดว่าทั้งปีจะทำได้ 1.1-1.2 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 19-20% ของการส่งออก ส่วนปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายจะขยับสัดส่วนและรักษาระดับให้เป็น 25% ของปริมาณการส่งออก หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประเทศ

“ธุรกิจเราตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้น 5% ทุกปี แต่สิ่งสำคัญคือผลผลิต ซึ่งขึ้นกับดินฟ้าอากาศ โดยส่วนแบ่งการตลาด จากช่วงแรกอยู่แค่ 10-20% แต่ตอนนี้พยายามรักษาสัดส่วน 24-25% ของการส่งออก เช่น ปีนี้คาดว่าส่งออกได้ 1.2 ล้านตัน ทั้งประเทศ 4-5 ล้านตัน”

อาหารสัตว์หนุน ยอดปี’67

“กิตติชัย” ยังคาดการณ์ด้วยว่า โอกาสการส่งออกมันสำปะหลัง ปี 2567 ตลาดยังมีความต้องการอีกมาก โดยเฉพาะอาหารสัตว์ แป้งมัน สารให้ความหวาน เอทานอล แต่สิ่งสำคัญวิกฤตของไทยเกิดจากต้นทาง ข้อจำกัดของการส่งออก คือ ปริมาณผลผลิตในประเทศที่ไม่เพียงพอ ปกติไทยผลิตได้เพียงปีละ 27-28 ล้านตัน มานานนับสิบปีแล้ว ทำให้ผู้ส่งออกโรงแป้งกับมันเส้นต้องแย่งกันซื้อ ราคาขึ้นไปสูงมาก แล้วยังไม่พอ ยังต้องไปหาวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านมาเสริม บริษัทเราต้องอาศัยวัตถุดิบจากเพื่อนบ้านกัมพูชา และลาว มาเสริมประมาณ 30% และใช้ในประเทศ 70%

มันสำปะหลัง ไทยคือผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลก และทิ้งห่างจากเบอร์ 2 คือเวียดนาม ที่ส่งออกแค่ 6-7 แสนตัน ทิ้งห่างกันเกือบ 100% ไทยส่งออก 5-7 ล้านตัน เฉพาะคู่ค้าเราเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในจีน 5 ราย แต่ละรายต้องการซื้อมันสำปะหลังรายละ 1 ล้านตัน รวมแล้ว 5 ล้านตันแล้ว ถึงจะไปทำตลาดได้เพิ่ม เช่น ตลาดอาหารสัตว์ในจีน ปกติใช้อยู่ประมาณ 380 ล้านตัน ถ้าเอาเฉพาะอาหารหมูและอาหารไก่ปริมาณ 100 ล้านตัน กลุ่มนี้มาใช้มันสำปะหลังผสมในสูตรแค่ 10% เท่ากับความต้องการมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นไปถึง 10 ล้านตัน จากปัจจุบันมันไม่พอแน่นอน เรายังผลิตได้เพียง 27-28 ล้านตัน ถูกดึงไปผลิตเป็นแป้งมัน 55% และที่เหลือเป็นมันเส้น 45%

ดังนั้น บริษัทหวังว่าทางภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ที่ให้เชื้อแป้ง และผลผลิตต่อไร่สูง เช่น เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 72 หากรัฐสนับสนุนเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จะทำให้เกษตรกรได้รายได้เพิ่มขึ้น

แย่งซื้อหัวมันราคาทะลุ 4 บาท

“กิตติชัย” กล่าวด้วยว่า ตลาดมันสำปะหลังกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญและโรคใบด่างว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังให้ลดลง ทำให้มีการไล่ราคารับซื้อสูงขึ้นจนขณะนี้ราคาหัวมันสำปะหลังเกิน 4.20 บาท จากปกติ 3.50 บาท เกษตรกรก็มีกำไรแล้ว ราคาดังกล่าวเมื่อคิดไปเป็นราคาแป้งมัน ที่ กก.ละ 20 บาท และราคามันเส้นเกิน 9.00 บาท ถือว่าสูงมาก

ปกติตลาดจีนจะเทียบราคามันสำปะหลังกับข้าวโพด ซึ่งเป็นสินค้าทดแทน ราคาจะต่างกันราว ๆ 80% เช่น ข้าวโพด กก.ละ 10 บาท มันเส้นก็ไม่ควรเกิน 8 บาท ตอนนี้ข้าวโพดราคา 9 บาท มันสำปะหลังก็ควรจะอยู่ที่ 7 บาท แต่ราคายังยืนอยู่ที่ 9.00 บาท และยิ่งไปกว่านั้น ราคาแป้งมันแพงกว่าแป้งข้าวโพดไปอีก 1 พันเหรียญสหรัฐต่อตัน

ในอนาคตหากผู้นำเข้ามองว่าฐานราคามันสำปะหลังขยับขึ้นไปสูงมากจนเกินกว่าจะรับได้ อาจหันไปหาวัตถุดิบทดแทนซึ่งอาจจะส่งผลในระยะยาว