COP28 ดึง 50 บริษัทน้ำมันทั่วโลก-ปตท.สผ. ร่วมลดก๊าซเรือนกระจก

COP28 ดึง 50 บริษัทน้ำมันทั่วโลก-ปตท.สผ. ร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านพันธสัญญาว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (OGDC)

วันที่ 11 ธันวาคม 2566 ภาคพลังงานเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ภาคพลังงานเองก็พยายามหาพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) อย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเข้ามาทดแทน แต่อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงฟอสซิลก็ยังเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลกที่มีการใช้ถึง 80%

COP 28 ดึง 50 บริษัทพลังงานลดก๊าซเรือนกระจก

ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 องศาสเซลเซียส ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement)

โดยในการประชุม COP21 ได้ให้บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น (Scope 3 emissions) ซึ่งคิดเป็น 85-90% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

จึงต่อเนื่องมาจนถึงประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม 2566 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ได้เกิดพันธสัญญาว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (Oil & Gas Decarbonization Charter หรือ OGDC)

Advertisment

ซึ่งเป็นความร่วมมืออย่างจริงจังขึ้นระหว่าง 50 บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจาก 29 ประเทศทั่วโลก อาทิ Oxy, Adnoc, Aramco, Petrobras, Shell, ExxonMobil, Ecopetrol, BP และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยมีเป้าหมายร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางของความตกลงปารีส

ถือว่าพันธสัญญานี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญของอุตสาหกรรมพลังงาน เพราะบริษัทที่เข้าร่วมทั้ง 50 บริษัทมีกำลังผลิตน้ำมันมากกว่า 40% จากทั่วโลก และส่วนใหญ่กว่า 60% ของบริษัทที่เข้าร่วมเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งนับเป็นการรวมตัวกันครั้งที่ใหญ่ที่สุดในการลดคาร์บอนไดออกไซด์

3 เป้าหมายร่วมลดโลกร้อน

เป้าหมายแรก คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

Advertisment

เป้าหมายที่สอง คือ การปล่อยก๊าซมีเทนจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมให้ใกล้ศูนย์มากที่สุด

เป้าหมายที่สาม คือ การปล่อยก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) ภายในปี 2573 ตามที่ธนาคารโลกได้กำหนดใน Zero Routine Flaring by 2030

4 พันธกิจหนทางสู่ความสำเร็จ

นอกจากนี้ ในพันธสัญญาดังกล่าว ยังระบุถึงแนวทางการดำเนินงานไว้ทั้งหมด 4 แนวทางเพื่อดำเนินตาม 3 เป้าหมาย ได้แก่ การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ และเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ต่อมาคือการยกระดับความโปร่งใสในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการเพิ่มความสอดคล้องของแนวทางบริหารจัดการในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

สุดท้ายคือ การลดการขาดแคลนพลังงานควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงและการเข้าถึงพลังงาน