ลุ้น ครม.เคาะค่าไฟฟ้า 3.99 บาทต่อหน่วย นับถอยหลังอีก 19 วัน

นับถอยหลังอีก 19 วัน ต้องประกาศค่าไฟงวดใหม่ (1 ม.ค-เม.ย. 67) จับตา ครม.ประกาศอัตรา ตามข้อเสนอของ กกพ. หรือเห็นชอบตามอัตรา ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน  3.99 บาทต่อหน่วย

วันที่ 12 ธันวาคม 2566  รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยจับตาวาระการประชุมวันนี้ จะมีการพิจารณา ค่าไฟฟ้าในที่ประชุมหรือไม่ ล่าสุดหลังการประชุม ครม. ปรากฏว่า ยังไม่มีวาระเสนอเพื่อพิจารณาในวันนี้

ดังนั้น จากนี้ไปจึงเหลือเวลาอีก 19 วัน ที่จะต้องประกาศอัตราค่าไฟงวดใหม่ จึงต้องลุ้นการประชุม ครม.นัดถัดไปว่าจะเห็นชอบ ในอัตราเท่าไร

รมว.พลังงาน ต้องการ 3.99 บาท/หน่วย

โดยนโยบายค่าไฟของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีแนวทางที่จะเสนอของบประมาณกลาง 2,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนมาตรการช่วยค่าไฟให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีการเสนอเข้าที่ประชุม ครม.วันนี้หรือไม่

สำหรับกลุ่มเปราะบางที่จะช่วยเหลือ คือผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย หรือ ประมาณ 17.7 ล้านราย คิดเป็น 75% ของกลุ่มผู้ใช้ไฟที่เป็นที่อยู่อาศัยทั้งหมด ซึ่งพิจารณาให้จ่ายค่าไฟงวดใหม่ (มกราคม-เมษายน 2567) เท่าเดิม คือ 3.99 บาทต่อหน่วย หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศค่าไฟงวดใหม่จะอยูที่ 4.68 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงาน เสนอให้มีการทบทวนอัตราค่าไฟฟ้างวด ม.ค. – เม.ย. 2567 ใหม่อีกครั้ง เพราะต้องการช่วยเหลือ “กลุ่มเปราะบาง” ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ให้ได้ใช้ค่าไฟเท่ากับงวดปัจจุบันคือ 3.99 บาทต่อหน่วย

โดยจะขอใช้งบประมาณกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นประมาณ 2,000 ล้านบาท เข้ามาอุดหนุนค่าไฟให้กับประชาชน

คาดเข้า ครม.สัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามดูว่ากระทรวงพลังงาน จะเสนอเข้า ครม. พิจารณาวันนี้หรือไม่ และตัวเลขค่าไฟฟ้าจะได้ข้อสรุปตัวเลขราคาค่าไฟสุดท้ายเท่าไหร่

เนื่องจากจะทำให้ทราบว่าส่วนต่างที่ต้องใช้งบประมาณกลางจะอยู่เท่าไหร่ ซึ่งจะมีการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 13 ธันวาคม 2566 นี้ เพราะหากยังไม่มีข้อสรุปราคา อาจนำเข้าที่ประชุม ครม.วันนี้ไม่ทัน ซึ่งอาจจะต้องรอ กพช. พิจารณาก่อน แล้วค่อยเสนอเข้า ครม.สัปดาห์ถัดไป

ที่มามติ กกพ.ค่าไฟฟ้าอัตรา 4.68 บาท/หน่วย

รายงานจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมมีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นเรื่องค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และมีมติเห็นชอบให้ปรับค่า Ft ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย

ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

“การพิจารณาปรับค่า Ft  ในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 นี้ กกพ. คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และขณะเดียวกันต้องไม่กระทบต่อศักยภาพความมั่นคงในการบริการพลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย โดยเป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็นได้”

มีเวลาคิดค่าไฟฟ้าถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 66

นอกจากนี้ การพิจารณาค่าไฟฟ้า ประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ที่ กกพ. ได้ประกาศไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 มีการนำเสนอฝ่ายนโยบายแล้ว

ทั้งนี้  หากรัฐบาลจะปรับลดค่าไฟฟ้าประมาณ 3.99 บาทต่อหน่วย หรือราคาสุดท้ายเท่าไรนั้น ก็จะต้องนำแนวทางลดค่าไฟฟ้าเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

โดยการพิจารณาค่าไฟฟ้ายังมีเวลาดำเนินการได้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2566 ก่อนที่จะเริ่มใช้ค่าไฟฟ้างวดใหม่ ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ต่อไป  โดยมีเวลาพิจารณานับจากวันนี้ถึงสิ้นเดือนก็ประมาณ 18 วัน ว่าค่าไฟฟ้าสุดท้ายเป็นเท่าไร

เปิดต้นทุนค่าไฟฟ้า 4.68 บาท/หน่วย

สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับงวดปัจจุบัน ในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ที่ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (ซึ่งเป็นราคาที่รัฐบาลออกมาพยุงราคาไว้ จากค่าไฟฟ้าที่แท้จริงที่ 4.45 บาทต่อหน่วย)

ทั้งนี้ สาเหตุที่ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นนั้นมาจาก ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ประกอบกับต้องจ่ายคืนหนี้ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไว้รวม 95,777 ล้านบาท

โดยการคิดค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ทำให้ได้คืนต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ กฟผ. 6 งวด ในอัตรางวดละ 15,963 ล้านบาท