เปิดข้อมูล กฟผ.แบกภาระสะสม 1.25 แสนล้าน หากปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 4.20 บ.

เปิดข้อมูล กฟผ.แบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนเพิ่มอีกเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท

เปิดข้อมูล กฟผ.แบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนเพิ่มอีกเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท หากรัฐบาลยอมให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เพียง 4.20 บาทต่อหน่วย ยอดค้างสะสมเพิ่มเป็น 1.25 แสนล้านบาท

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเปิดเผยว่า มติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่เห็นชอบให้ปรับค่าไฟฟ้าในส่วนของค่า Ft ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน มกราคม-เมษายน 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย

ซึ่งส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นอัตราที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และศักยภาพของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการบริหารจัดการความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ ที่ กฟผ.จะต้องมีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็นแล้ว

ความพยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงเรื่องการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจากฝ่ายนโยบายที่จะให้ปรับขึ้นได้ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย เป็นเพียงการยื้อเวลา และผลักภาระให้ กฟผ.แบกรับในวงเงินที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยหาก กฟผ.มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ก็จะต้องมีการกู้หนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ที่เพิ่มขึ้น ก็จะถูกบวกเพิ่มเข้าไปในค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชนและผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ มีการเปิดเผยข้อมูลจากทาง กฟผ. ว่าการเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน มกราคม-เมษายน 2567 ในอัตรา 4.20 บาทต่อหน่วย ตามนโยบายของนายพีระพันธุ์ แทนที่จะเป็นอัตรา 4.68 บาทต่อหน่วย ตามมติ กกพ. จะทำให้ กฟผ.มีภาระค่า Ft ที่ต้องค้างรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13,950 ล้านบาท และทำให้ยอดสะสมของค่า Ft ค้างรับรวมเป็น 125,950 ล้านบาท จากที่เคยปรับลดลงมาเหลือที่ระดับ 95,777 ล้านบาท ก่อนหน้านี้

“หนี้ที่เกิดจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่ กฟผ.แบกรับแทนประชาชนไปก่อน ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องทยอยจ่ายคืนในแต่ละงวดของการคำนวณค่า Ft ยิ่งยืดระยะเวลาออกไปนาน ต้นทุนจากอัตราดอกเบี้ยก็ยิ่งเพิ่มขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่ออกมาเรียกร้องกับรัฐบาลให้ยังคงตรึงค่าไฟฟ้าเอาไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยนั้น ต้องชี้ให้ประชาชนเห็นว่า การคำนวณค่าไฟฟ้า Ft เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 มีการแบ่งอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่ม โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยนั้นจ่ายอยู่ที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม นั้นจ่ายอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย

ซึ่งผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมได้มีการปรับตัวและปรับต้นทุนสินค้าต่าง ๆ ไปแล้ว และในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 รัฐบาลก็บีบให้ค่าไฟฟ้าปรับลดลงมาเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สะท้อนต้นทุนจริง ก็ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์จากค่าไฟฟ้าที่ลดลงอย่างมาก แต่ราคาสินค้าและค่าครองชีพประชาชนก็ไม่ได้ปรับลดลงตาม

โดยผู้ที่รับภาระต้นทุนแทนประชาชนไปก่อน คือ กฟผ. และ ปตท. ดังนั้น การที่ กกพ.ประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย โดยที่มีการบวกส่วนที่จะต้องทยอยคืนให้ กฟผ. ภาคอุตสาหกรรมจึงไม่ควรที่จะออกมาเรียกร้องอะไร

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ออกมาชี้แจงแล้วว่า ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในครั้งนี้ มาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า คือก๊าซธรรมชาติที่มีความผันผวนอยู่ในระดับสูง เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาวของกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ราคาในตลาดโลกจึงปรับตัวสูงขึ้นตาม

อีกทั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติลดน้อยลง จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการเพื่อปรับลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 4.20 บาทต่อหน่วยตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย

1.ให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลง ซึ่งในแนวทางนี้ ปตท.จะต้องแบกรับภาระแทนประชาชน

2.ภาครัฐต้องกำหนดให้ราคาขายก๊าซธรรมชาติเท่ากัน ทั้งฝั่งที่ขายก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้า และฝั่งที่ขายก๊าซฯ ให้ธุรกิจปิโตรเคมี เนื่องจากปัจจุบันราคาขายก๊าซฯ ให้ธุรกิจปิโตรเคมี มีราคาถูกกว่าโรงไฟฟ้า โดยแนวทางนี้อาจดำเนินการในระยะสั้นได้

3.ให้ กฟผ.แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนที่ประมาณ 48 สตางค์ต่อหน่วยไปก่อน เช่นเดียวกับที่ผ่านมา กฟผ.แบกรับภาระค่าไฟฟ้าไว้และให้ประชาชนมาทยอยจ่ายคืนในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในภายหลัง รวมทั้งให้ ปตท.ลดค่าก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าลง โดย ปตท.แบกรับภาระไปก่อน แล้วให้ประชาชนจ่ายคืนในภายหลังเช่นกัน

4.ให้นำเงินงบประมาณจากภาครัฐมาจ่ายชดเชยราคาค่าไฟฟ้าส่วนลดที่ประมาณ 48 สตางค์ต่อหน่วยแทน ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐจะต้องหาเงินมาชดเชยค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและเป็นผู้แบกรับภาระแทน

ทั้งนี้ ใน 4 แนวทางดังกล่าวจะต้องมีการรายงานให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบ

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยังต้องการที่จะให้มีการปรับลดค่าไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจริง ก็จะต้องนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้เป็นมติออกมา

เพื่อเปิดทางให้ กกพ.ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ในมาตรา 64 มาตรา 69 และประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ในข้อ 11 ปรับลดค่าไฟฟ้าให้เป็นไปตามมติ ครม.ที่ออกมา เหมือนเช่นที่เคยดำเนินการในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ที่ให้ทั้ง กฟผ. และ ปตท.มาช่วยแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นไปก่อน แต่การดำเนินการในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยค่อนข้างมาก