ความท้าทายข้าวไทยปี’67 ผลผลิตต่อไร่ต่ำ-ต้นทุนสูง

อนาคตข้าวไทย

ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 17 ล้านคน เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีและนาปรัง เฉลี่ยปีละ 70-71 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 47% ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ 149 ล้านไร่ มีผลผลิตข้าว 31-32 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี คิดเป็น 20 ล้านตันข้าวสาร

“ข้าว” นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล ในปี 2565 ไทยสามารถส่งออกข้าว 7.71 ล้านตัน สร้างรายได้จากการส่งออก 138,698 ล้านบาท ล่าสุด 9 เดือนแรกของ (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2566 ส่งออกได้แล้ว 6.08 ล้านตัน มูลค่า 117,590 ล้านบาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจีดีพีทางภาคเกษตรมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีหนี้ครัวเรือนสูง

รัฐบาลหนุนสุดแรง

ในเวทีการประชุมเวทีข้าวไทย ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “อนาคตข้าวไทย : โอกาสและความท้าทาย” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทาย ที่จะนำไปสู่การกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีนวัตกรรมที่จะพัฒนาสู่ความมั่นคงและยั่งยืน

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายรัฐกับอนาคตข้าวไทย” ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับชาวนา สินค้าข้าวซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถด้านการผลิตและการตลาดตลอดโซ่อุปทาน มีเป้าหมายว่า 4 ปีจากนี้ ชาวนาจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า

ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ชาวนาได้เมล็ดพันธุ์ข้าวมีคุณภาพดี เข้ากับสภาพแวดล้อม ทนทานต่อโรค และตรงความต้องการของตลาดโลก จึงต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับชาวนา เพื่อแข่งขันได้ในตลาดโลก

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า

ชู 7 แนวทางหนุนข้าวไทย

โดยมีแนวทางสำคัญ 7 แนวทาง ดังนี้ 1) ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัย และพัฒนา เพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย ตรงความต้องการของตลาด มีความต้านทานโรค ให้ผลผลิตสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น 2) นำเครื่องจักรกล เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต เพื่อลดต้นทุนด้านการเกษตร

3) ส่งเสริมการทำนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ ลดการเผาตอซังในไร่นา ส่งเสริมให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นามาใช้ประโชน์ สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การผลิตปุ๋ย การนำไปเป็นอาหารสัตว์ และการนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล ช่วยลดมลพิษทางอากาศ PM 2.5

4) สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรองในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าว สามารถพึ่งพาตนเองได้ 5) ส่งเสริมการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน รองรับตรงตามความต้องการของตลาด 6) ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต

และ 7) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกข้าวไทย การส่งเสริมหาตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อ การเจาะกลุ่มตลาดข้าวเฉพาะ สร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จัก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณค่าและคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าข้าวไทย

10 ปี ผลผลิตข้าวไทยถดถอย

ขณะที่ นางอิสริยา บุญญะศิริ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การเพิ่มผลผลิตต่อไร่เป็นปัจจัยสำคัญที่ชาวนาจำเป็นจะต้องปรับตัว เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งให้ได้ โดยเมื่อย้อนดู 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562-65 ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น อย่างนาปีเพิ่มขึ้น 0.8% เกิดจากการขยายพื้นที่การเพาะปลูก ไม่ได้เกิดจากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งหากเทียบกับเวียดนามและอินเดียแล้ว ผลผลิตต่อไร่มีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ชาวนาไทยต้องเผชิญปัญหาต้นทุนการปลูกข้าวสูงขึ้น ปี 2565 อยู่ที่ 12,335 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาขายอยู่ที่ 13,263 บาทต่อตัน จึงทำให้มีรายได้สุทธิถึงมือชาวนาจริง ๆ เพียง 928 บาทต่อตัน ประกอบกับชาวนาอยู่ในวัยที่สูงอายุ ทั้งยังมีหนี้สินมาก จำนวนเงินออมไม่พอต่อการดำรงชีพ

ในด้านการตลาด พบว่า ปริมาณการบริโภคข้าวในตลาดโลกลดลง เมื่อราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกข้าวลดลง และในอนาคตการปลูกข้าวใช้น้ำปริมาณมาก และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อีกทั้งการปลูกข้าวมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวนาจำเป็นจะต้องปรับตัว เพิ่มผลผลิตต่อไร เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น และภาครัฐก็ต้องสนับสนุนหาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน

นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย กล่าวว่า ความต้องการเมล็ดพันธุ์ของชาวนามีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ยากต่อการคาดการณ์ แม้กระทั่ง 4 เดือนข้างหน้าก็ยังไม่รู้ว่าชาวนาต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างไร ในส่วนของผู้รวบรวมพันธุ์ข้าวหรือพัฒนาพันธุ์ข้าวไม่ได้มีความกังวลเรื่องคุณภาพ สามารถสร้างพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ตลอดห่วงโซ่ในอุตสาหกรรมข้าวไทย จำเป็นต้องร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทย แก้ปัญหาให้สามารถแข่งขันและสร้างรายได้ให้กับประเทศ เพราะทุกฝ่ายมีความถนัดต่างกัน เช่น หากผู้ส่งออกซื้อข้าวสต๊อกส่งออก แต่หากตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลง ย่อมจะส่งผลต่อสต๊อกข้าวที่เก็บไว้ หรือโรงสี การจะเข้ามาในตลาดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งในด้านการขอสินเชื่อหรือแข่งขัน

เปรียบเทียบผลผลิตข้าว

โรงสีแข่งเดือด

นายนิพนธ์ สมิทธาพิพัฒน์ เลขาธิการ สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่าปัจจุบันโรงสีมีกำลังการผลิตมากกว่าผลผลิตข้าวถึง 3 เท่า ทำให้ธุรกิจโรงสีมีการแข่งขันสูง อัตรากำไรต่ำ 2-3% ผู้ประกอบการโรงสีจึงมีการปรับตัวทั้งเรื่องการแข่งขัน ตลาด การผลิต รวมไปถึงเครื่องจักร ซึ่งมีการพัฒนามาตรฐานการสีข้าวสูงขึ้น และให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อย่างไรก็ดี รูปแบบการค้าข้าวในอนาคตทุกฝ่ายจำเป็นจะต้องร่วมมือกันเพื่อผลิตข้าวให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งการมีฐานข้อมูลหรือบิ๊กดาต้าที่จะระบุถึงผลผลิต ชนิด สายพันธุ์ จะสามารถนำมากำหนดแผนการผลิตและการทำตลาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันได้

จับตาตลาดส่งออก

นายวันนิวัติ กิตติเรียงลาภ รองเลขาธิการ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวของไทย 10 เดือนแรก ปี 2566 มีปริมาณ 6 ล้านตัน ได้รับผลดีจากการที่อินเดียประกาศหยุดส่งออก ทำให้ผู้นำเข้าหลายประเทศ อย่างอินโดนีเซีย อิรัก นำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 ยังต้องติดตามสถานการณ์จากคู่แข่ง ทั้งอินเดีย จีน และเวียดนาม ว่าจะมีแผนการระบายสต๊อกข้าวมากน้อยเท่าไร เพราะจะมีผลต่อตลาดโลก ทั้งด้านราคาและการแข่งขัน

สิ่งสำคัญ ไทยจำเป็นต้องพัฒนาข้าวให้ตอบโจทย์ตลาด และสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ระยะเวลาการปลูกน้อยลง ข้าวมีความต้านทานโรค เป็นข้าวไม่ไวต่อแสง มีคุณภาพทั้งด้านรสชาติ กลิ่น และโภชนาการทางอาหาร

รัฐจะต้องส่งเสริมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเกษตรกร วางระบบชลประทาน พร้อมทั้งพัฒนาระบบการใช้ฐานข้อมูลจากข้อมูลดาวเทียม เพื่อการเกษตรที่แม่นยำ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร