“สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์” สุดบูม ปั๊มเศรษฐกิจ 2 แสนล้าน-ดันไทยฮับอาเซียน

สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์

3 ไตรมาสแรก ยอดขอบีโอไออิเล็กทรอนิกส์พุ่ง 2 แสนล้าน ปลัดอุตสาหกรรม ลุยต่อดึงลงทุน “สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์” ส่ง สศอ.ร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะแรกปี’66-70 ดันไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน ด้าน ส.อ.ท.ผุดคลัสเตอร์ CFM-ONE คู่ขนานรัฐ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 2566) ทั้งหมด 171 โครงการ เพิ่มขึ้น 84% จากปีที่แล้วที่มี 93 โครงการ โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 208,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 246% จากปีที่แล้วมีเงินลงทุนอยู่ที่ 60,257 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงที่สุด

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2567 มุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ต่อเนื่อง เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นไม่เพียงจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือ EV ควบคู่กับอุตสาหกรรมรถสันดาปเท่านั้น แต่ยังจะมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นพื้นฐานของทุกอุตสาหกรรม และที่ผ่านมามีตัวเลขการลงทุนจำนวนมาก

โดยล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (2566-2570) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570

ประกอบด้วย 5 กลุ่มเป้าหมาย คือ Smart Home, Smart Factory, Smart Hospital & Health, Smart Farm และรถ EV โดยความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศไทยมีฐานการผลิต การสนับสนุนการวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างผู้ประกอบการ Startup และพัฒนาบุคลากรด้าน Smart Electronics ผ่านกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund)

สำหรับประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์ทั้งวิศวกร และช่างเทคนิค และการพัฒนา Ecosystem ยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบ สำหรับ Smart Electronics รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีความมั่นคงในด้านวัตถุดิบ

นอกจากนี้ นโยบายของกระทรวงด้านการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย SMEs จะยังคงใช้กลไกของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (20,000 ล้านบาท) ล่าสุดได้มีการเพิ่มกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือกลุ่มที่สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ครอบคลุมในอุตสาหกรรม BCG เช่น ผู้ประกอบการที่กำลังจะพัฒนาตนเองหรือติดตั้งโซลาร์เซลล์ สามารถขอเงินสนับสนุนได้ ภายใต้เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย 3% ซึ่งขณะนี้มีวงเงินสนับสนุนอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ล่าสุด ส.อ.ท.ตั้งกลุ่ม Cluster of FTI. Future Mobility-ONE หรือคลัสเตอร์ CFM-ONE ซึ่งคณะกรรมการจะประกอบไปด้วย กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น

โดยมีเป้าหมายรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ขณะเดียวกันต้องสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่ เตรียมพร้อมทิศทาง Carbon Neutrality ผลักดันให้ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับตัวสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Part Transformation)

รวมถึงการอํานวยความสะดวกในการดําเนินธุรกิจ ทั้งการอนุมัติ การอนุญาตฯ มาตรฐานฯ ฯลฯ (Ease of Doing Business) การพัฒนา Ecosystem สําหรับยานยนต์สมัยใหม่ เช่น Autonomous Vehicle/Digitalization การบริหารจัดการซากรถยนต์ ชิ้นส่วน หรือแบตเตอรี่ เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม การวิจัยและการพัฒนา เพื่อเตรียมความพร้อมสําหรับยานยนต์สมัยใหม่