เวิลด์แบงก์ ประเมิน GDP ไทยเสียหาย 6% จากปัญหาฝุ่นควัน PM2.5

สนค.เผยเวิลด์แบงก์ ประเมินจีดีพีไทยเสียหายทางเศรษฐกิจ 6% จากปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในเดือนธันวาคม 2566  ชง 8 แนวทางแก้ไข พร้อมแนะนำว่า ไทยควรใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอน หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา 

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยพบว่ารายงานการติดตามสภาวะเศรษฐกิจไทยฉบับเดือนธันวาคม 2566 ของธนาคารโลกระบุว่า ไทยประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 6% ของจีดีพี โดยเป็นผลกระทบของวิกฤตฝุ่นควัน PM 2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน และได้ให้คำแนะนำว่า ไทยควรใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอน หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา

เงินเฟ้อ พ.ย. 66 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือนมาตรการอุ้มพลังงาน คาดทั้งปี 66 โต 1.35%
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นอกจากนี้ สนค.มองว่าภาครัฐและเอกชนไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนภาคบริการ ไปสู่ธุรกิจบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเน้นที่การใช้มาตรการเชิงส่งเสริมสนับสนุน เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถเลือกใช้สินค้าและบริการที่ปลดปล่อยฝุ่นควันลดลง โดยให้กระทบต่อภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ประกอบด้วย 8 แนวทาง ได้แก่

1.สนับสนุนธุรกิจในสาขากิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ ให้เกิดการวิจัยและพัฒนาให้ได้เทคโนโลยีทดแทนการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่ง ซึ่งมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดผลกำไรสูงขึ้น

2.สนับสนุนธุรกิจในสาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสาร ให้ใช้ยานยนต์พลังงานทางเลือกที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น พลังงานไฟฟ้าและไฮโดรเจน 3.สนับสนุนธุรกิจในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ให้มีระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ 4.สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการข้อมูลลดฝุ่นและคาร์บอน 5.สนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อลดการปล่อยฝุ่น

6.สนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการบริการและด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน 7.สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้จัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น เช่น การจ้างบริการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และ 8.ดำเนินนโยบายร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในการร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน

ทั้งนี้ ธุรกิจบริการมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤตฝุ่นควัน ซึ่งภาคบริการ รวมถึงภาคธุรกิจอื่น ๆ อาทิ สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึงกว่า 8.19 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการกว่า 4.02 หมื่นราย มีการจ้างงานกว่า 6.49 แสนคน หากสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงานจะช่วยลดฝุ่นได้ โดยมีภาครัฐเป็นอีกหนึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขวิกฤตนี้ ผ่านการสนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนในการปรับตัวอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจและผู้บริโภคอาจจำเป็นจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงานและการดำเนินชีวิต รวมถึงอาจมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องบางส่วนสูงขึ้นกว่าปัจจุบันบ้าง แต่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อสุขภาพและอนาคต ซึ่งภาครัฐก็เป็นอีกหนึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขวิกฤตนี้ ผ่านการสนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนในการปรับตัวอย่างเหมาะสม

ฝุ่นควัน PM 2.5 กับจีดีพี

เมื่อพิจารณาถึงธุรกิจบริการที่เชื่อมโยงกับปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 อาทิ สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ (GDP) ถึงกว่า 8.19 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการกว่า 4.02 หมื่นราย มีการจ้างงานกว่า 6.49 แสนคน ครอบคลุมทั้งการขนส่งสินค้า บริการที่เก็บสินค้า และการจัดการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการขนส่งผู้โดยสาร สาขาดังกล่าวเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด และยังเป็นเป็นผู้ปลดปล่อยฝุ่นควัน PM 2.5 โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่อากาศปิดอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีการจราจรหนาแน่น

ในปี 2565 ภาคบริการมีสัดส่วนสูงถึง 58.71% ของ GDP ไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 10.2 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการมากถึงกว่า 2.6 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 12.8 ล้านคน และครอบคลุมธุรกิจหมวดใหญ่ ๆ ถึง 15 สาขา เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของประชาชน อาทิ กิจกรรมการค้าส่ง-ค้าปลีก ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางจัดหาสินค้าจากภาคการผลิตทางเกษตรและอุตสาหกรรมสู่ผู้บริโภค กิจกรรมการขนส่งและจัดเก็บสินค้า หรือธุรกิจโลจิสติกส์ที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามความต้องการ รวมถึงการขนส่งผู้โดยสาร ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน เป็นต้น

ต่างประเทศแก้ปัญหา PM 2.5

เมื่อศึกษามาตรการที่ต่างประเทศใช้ในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ตลอดจนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม พบว่าหลายประเทศมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งมาตรการควบคุม และมาตรการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการยกระดับธุรกิจให้เป็นธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ

  • สหภาพยุโรป ได้จัดทำแนวทางพัฒนาธุรกิจภาคบริการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามนโยบาย European Green Deal ที่มุ่งส่งเสริมธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ยกระดับธุรกิจจัดการของเสีย สู่การเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่อการผลิตสินค้าและบริการทั้งระบบ เป็นต้น
  • สหรัฐอเมริกาใช้กลไกอำนาจระดับมลรัฐจำกัดการใช้ยานยนต์เครื่องสันดาปและส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์พลังงานทางเลือก
  • สิงคโปร์กำหนดโทษทั้งทางแพ่งและอาญาแก่ผู้ประกอบการที่มีส่วนร่วมให้เกิดฝุ่นควันข้ามพรมแดน ซึ่งเห็นผลอย่างชัดเจนจากการที่นักธุรกิจสิงคโปร์ที่ลงทุนประกอบธุรกิจในอินโดนีเซียลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
  • จีน หน่วยงานระดับภูมิภาคและท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการควบคุมปริมาณการใช้ยานพาหนะ รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้ยานพาหนะพลังงานทางเลือกและการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมและครัวเรือนให้ลดการใช้พลังงานถ่านหินและเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด
  • มอลตา และอีกหลายประเทศที่กำหนดให้รถที่มีอายุการใช้งานสูงกว่าต้องเสียภาษีสูงกว่า