ชี้เป้าส่งออก อาหารเจ-โปรตีนจากพืช เจาะตลาดเยอรมนี

ชี้เป้าส่งออก อาหารเจ-โปรตีนจากพืช เจาะตลาดเยอรมนี

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ชี้เป้าส่งออกอาหารเจอาหารโปรตีนจากพืช เจาะตลาดเยอรมนี หลังผลสำรวจพบผู้บริโภคหันมาบริโภคกันมากขึ้น แถมร้านค้า ห้างในเยอรมนี ต่างหันมาวางจำหน่ายสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

วันที่ 28 ธันวาคม 2566 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ล่าสุดกรมฯ ได้รับรายงานจากนางสาวพัชรา รัตนบุบผา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารเจ และอาหารที่ใช้โปรตีนจากพืช หลังจากชาวเยอรมันให้ความสำคัญต่อสุขภาพต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อมและต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า ในเยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหาร โดยในการผลิตอาหาร ทั่วโลกใช้น้ำจืด 2 ใน 3 ของการบริโภคน้ำจืดทั่วโลก สร้างมลพิษ 3 ใน 4 ส่วนของมลพิษในแหล่งน้ำ และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

ส่วนอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อม 89% ของพื้นที่เกษตรกรรม แต่เนื้อสัตว์ครอบคลุม
เพียง 11% ของการบริโภคทั่วโลก และในการผลิตเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัม (กก.) มีค่าการผลิตก๊าซเรือนกระจกสูงถึง30 กก. ส่วนการผลิตเนื้อสัตว์จากพืช ผลิตก๊าซเรือนกระจกเพียง 2.8 กก. ทำให้คนให้มาให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันมากขึ้นโดยหันมาบริโภคอาหารเจ และโปรตีนจากพืชกันมากขึ้น

ทั้งนี้ มีผลสำรวจร้านค้าปลีกในเยอรมนี เช่น ร้าน Penny ซึ่งเป็นดิสเคานต์สโตร์รายแรกในเยอรมนี
ได้เปิดตัวแบรนด์หลักสินค้าจากพืชที่เรียกว่า Food For Future ขึ้น และขณะนี้ มีการจำหน่ายสินค้าวีแกนมากถึง 1,400 รายการ แต่ราคาสินค้าโปรตีนจากพืช ยังมีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์หรือไส้กรอก

ทำให้ผู้บริโภคยังลังเลที่จะบริโภค แต่ก็มีหลายห้าง เช่น Lidl ได้มีการปรับราคาสินค้าใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่มีต้นกำเนิดจากเนื้อสัตว์ทำให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น และห้างยังได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการขายพืชตระกูลถั่ว เมล็ดพืช และอาหารวีแกน ทดแทนเนื้อสัตว์ ไข่ และผลิตภัณฑ์ปลา เพิ่มมากขึ้นด้วย

ขณะที่ห้าง Edeka ไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้มีการนำเสนออาหารที่มีโปรตีนสูงจากพืช เช่น พาสต้าถั่วเลนทิล หรือสลัดพืชตระกูลถั่วแบบซื้อกลับบ้าน และส่งเสริมอาหารวีแกน และมังสวิรัติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วน Aldi ก็มีการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืชเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นวีแกน 800 รายการ และจะเพิ่มเป็น 1,000 รายการต่อไป

ส่วนผลิตภัณฑ์หมวดเนื้อสด นมพร้อมดื่ม เนื้อสัตว์แช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ได้กำหนดให้มาจากสัตว์ที่ได้รับการดูแลสวัสดิภาพสัตว์จะอยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงดูสัตว์แบบออร์แกนิก

“ตลาดผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช กำลังเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโปรตีนจากแมลง และโปรตีนจากพืช ซึ่งเป็นสินค้าที่กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปัจจุบันเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวเยอรมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวของไทย ที่จะขยายตลาดเข้าสู่ตลาดเยอรมนีได้เพิ่มขึ้น”นายภูสิตกล่าว

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
(DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169