จีน-เวียดนาม นำเทรนด์สินค้า-บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ไทยต้องเร่งปรับตัว

ผลิตภัณฑ์รักโลก
ภาพจาก : www.freepik.com

“พาณิชย์” เผยตลาดจีน-เวียดนาม เทรนด์บรรจุภัณฑ์ สินค้า ESG รักษ์สิ่งแวดล้อมมาแรง แนะผู้ส่งออกไทยปรับตัวเจาะเข้ากลุ่มผู้บริโภค ศึกษาพฤติกรรม เร่งทำตลาด

วันที่ 3 มกราคม 2567 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมติดตามสถานการณ์ตลาด การบริโภคสินค้า ของผู้นำเข้า เพื่อสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออก
สินค้าไทย ไปยังต่างประเทศต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2567 หวังการเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวอรนุช วรรณภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนถึงแนวโน้มบรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในตลาดจีน และโอกาสในการส่งออกของผู้ประกอบการไทย พบว่า ปัจจุบันความต้องการในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม เติบโตอย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคก็มีความต้องการทางด้านปริมาณและคุณภาพของผลิตภัณฑ์มากขึ้น

โดยข้อมูลการบริโภคในจีน ปี 2566 พบว่า บรรจุภัณฑ์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของจีนอย่างมาก เนื่องจากบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคทันทีที่เห็น และกลุ่มผู้บริโภคที่เกิดในช่วงปี 1990 และ 2000 มักนิยมผลิตภัณฑ์ที่ดูดี ซึ่งจากข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้บริโภคชาวจีนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าภายในเวลาเฉลี่ย 3-7 วินาที ผู้บริโภคกว่า 64% ยินดีซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ

อีกทั้งยังมีผู้บริโภคถึง 65% ยินดีจ่ายเงินสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าในจีนจึงให้ความสำคัญ เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์อาหารมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เปิดตัวโดยบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ของจีน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีลักษณะโปร่งใส สามารถเห็นผลิตภัณฑ์ด้านในได้รูปแบบอินเตอร์แอ็กทีฟที่เพิ่มความสะท้อนความเป็นตัวตนของแบรนด์ และบรรจุภัณฑ์ที่มีสีสันสดใส รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมล้วนแต่กำลังกลายเป็นกระแสใหม่ในวงการบรรจุภัณฑ์ของจีน

และคาดการณ์ว่า อีก 3-5 ปีข้างหน้า ตามการพัฒนาของตลาดอาหารในจีน เช่น น้ำผลไม้ โปรตีนจากพืช น้ำดื่มบรรจุขวด เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่ม Low Sugar หรือปราศจากน้ำตาล และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม จะเปลี่ยนมาเป็นนมธรรมชาติล้วน รวมถึงกระแสรักษ์โลก

โดยการพัฒนาเหล่านี้ จะกลายเป็นกระแสแนวโน้มใหม่ของวงการบรรจุภัณฑ์อาหาร เช่น การยกระดับการผลิตจากการบรรจุแบบร้อน เป็นการบรรจุแบบเย็นแบบปลอดเชื้อ หรือการใช้วัสดุใหม่สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่มีอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้นานขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ง่ายต่อการย่อยสลาย

รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความหมายแฝงทางวัฒนธรรม สมเหตุสมผลและใช้งานได้จริงและปรับปรุงทำให้สะดวกมากขึ้นในการพกพา จะสร้างความดึงดูดผู้บริโภคในจีนได้มากกว่าการใช้เทคนิคบรรจุภัณฑ์ที่ซับซ้อน และส่งเสริมให้ผู้บริโภคจีนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สูง

“ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่ส่งออกไปยังจีนโดยเฉพาะสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สามารถนำเทรนด์การรักษ์โลกมาประยุกต์ใช้กับบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปจีน เพื่อให้เข้าถึงตลาดและผู้บริโภคในจีนได้มากขึ้น และผู้ประกอบการควรศึกษาอัพเดตข้อมูลเทรนด์ผู้บริโภคเพิ่มเติม และพัฒนาสินค้าของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีน และผลักดันให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ และจะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าไทยไปจีนได้เพิ่มขึ้น” นายภูสิตกล่าว

เวียดนามมุ่งสินค้าธรรมชาติ

ขณะที่ตลาดเวียดนาม นายภูสิตระบุว่า นางสาวอุษาศรี เขียวระยับ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ เวียดนาม เผยว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคและค้าปลีกกําลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทําให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องเฝ้าติดตามแนวโน้มในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านตัวผลิตภัณฑ์ เทรนด์การตลาด แพลตฟอร์มการจัดจําหน่าย

โดยในด้านตัวสินค้า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสินค้าระดับไฮเอนด์เพิ่มมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์นม ที่มุ่งสู่นมสดออร์แกนิก นมสดกรีนฟาร์ม นมรังนก นมผสมธัญพืช โยเกิร์ตคุณภาพสูง ส่วนสินค้าในกลุ่ม FMCG (Fast Moving Consumer Goods) เช่น ขนมหวาน เครื่องปรุงรส อาหาร และเครื่องสําอาง ก็ยกระดับไปยังกลุ่มไฮเอนด์เช่นกัน

ส่วนเทรนด์การตลาด ได้ให้ความสำคัญกับสินค้าที่ ESG ที่มุ่งด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) โดยผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายเงินมากขึ้น

ขณะที่สินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และออร์แกนิก สินค้าที่ขจัดไขมันทรานส์ และน้ำตาลออก อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นสินค้าที่มีศักยภาพ และมีแนวโน้มเติบโตสูง และผู้บริโภคยังชอบรูปแบบการค้าปลีกสมัยใหม่ รูปแบบมินิมอล ที่มีสินค้าและบริการที่จำเป็นอยู่ด้วยกัน เช่น บริการทางการเงิน ยา อาหาร เครื่องดื่ม และโทรคมนาคม

สำหรับการซื้อของออนไลน์ เป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโต จากการที่ประชากรเข้าถึงสมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ต และการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ใช่เงินสด โดยบริษัท Cimigo ประมาณการไว้ว่าการซื้อของออนไลน์ จะมีมูลค่ามากกว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2565 และรายงานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ของบริษัท Metric แสดงให้เห็นว่ารายได้รวมบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นถึง 46% ส่วนแคมเปญระดับโลกของ TikTok Shop Vietnam พร้อมแฮชแท็ก #Tiktokmademebuyit มียอดวิว 20 พันล้านครั้ง และผู้ใช้ 66% ตัดสินใจซื้อทันทีในแคมเปญ

“การพัฒนาตลาดค้าปลีกของเวียดนามหลังการระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงจากการเติบโตของรายได้เฉลี่ยของคนเวียดนามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมการจับจ่ายที่ผู้บริโภคเวียดนามตระหนักถึงการดูแลสุขภาพมากขึ้น และเต็มใจที่จะจ่ายเงินกับผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง หรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและออร์แกนิก
ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าจากธรรมชาติและออร์แกนิก

โดยเฉพาะช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี 2566 และช่วงวันตรุษเวียดนามต้นปี 2567 เป็นช่วงที่ผู้บริโภคเวียดนามมักจะใช้จ่ายและซื้อของเป็นจำนวนมาก และการขายผ่านช่องทาง Social Media สมัยใหม่ อาทิ Facebook Live และ TikTok เป็นต้น เป็นเทรนด์ที่มาแรงในเวียดนาม เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำกว่าการเปิดหน้าร้าน และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นช่องทางอีคอมเมิร์ซที่น่าสนใจของผู้ประกอบการที่ต้องการขยายการค้ามายังตลาดเวียดนาม”