10 ปี การค้าทุเรียนโลก พุ่ง 10 เท่า ไทยครองตลาด 94%

ทุเรียน

เปิดรายงาน FAO ชี้ ตลาดทุเรียนโลก 10 ปี ยอดการค้าทุเรียนโลก เพิ่ม 10 เท่า ไทยครอง 94% ตามด้วยเวียดนาม 3% ด้านจีนครองแชมป์ นำเข้ามากที่สุด 95% ของโลก

วันที่ 2 มกราคม 2567 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) เผยแพร่รายงานภาพรวมการค้าทุเรียนโลกประจำปี 2566 (Durian Global Trade Oveview 2023) โดยเนื้อหาประกอบด้วยข้อมูลสรุปผลการประเมินเกี่ยวกับแนวโน้มและการพัฒนาล่าสุดในด้านการค้าทั่วโลกของทุเรียน

ซึ่งเป็นผลไม้เขตร้อนที่กำลังได้รับความนิยม ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดโลก ซึ่งรวมถึงปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์และอุปทาน แนวโน้มการค้า โอกาสและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น

10 ปี ยอดการค้าทุเรียนโลก เพิ่ม 10 เท่า

แนวโน้มตลาดการส่งออกทุเรียนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างมาก โดยปริมาณการค้าทุเรียนทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 10 เท่าตัว ในช่วงระหว่างปี 2546-2565 โดยเพิ่มขึ้นจาก 80,000 ตัน เป็น 870,000 ตัน โดยพบว่าในปี 2564 เป็นปีที่ปริมาณการค้าทุเรียนทั่วโลกสูงมากที่สุดถึง 930,000 ตัน

ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้การค้าทุเรียนปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเติบโตของรายได้ (Income Growth) การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของความชอบของผู้บริโภค (Consumer Preference) ในประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้าสำคัญ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีการขนส่งห่วงโช่ความเย็น (Cold Chain) และระยะเวลาในการขนส่ง ซึ่งช่วยส่งเสริมให้การค้าทุเรียนขยายตัวเพิ่มขึ้น

จากสถิติในช่วงปี 2563-2565 พบว่าไทยเป็นประเทศที่ส่งออกทุเรียนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 94 ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของโลก

นอกจากนี้ ยังมีเวียดนามที่ส่งออกทุเรียนประมาณร้อยละ 3 ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของโลก และมาเลเซียอีกประมาณร้อยละ 3 ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของโลกเช่นกัน โดยปริมาณการผลิตทุเรียนของ 3 ประเทศดังกล่าวรวมกันได้ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่เป็นประเทศผู้ผลิตทุเรียน แต่มีการส่งออกสู่ตลาดโลกน้อยมาก โดยทุเรียนที่ผลิตในอินโดนีเชียส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก

จีน ตลาดนำเข้าทุเรียนสำคัญของโลก

จีนเป็นประเทศที่นำเข้าทุเรียนมากที่สุดในโลก จากสถิติพบว่าในช่วงระหว่างปี 2563-2565 นำเข้าทุเรียนเฉลี่ยปีละ 740,000 ตัน โดยคิดเป็นร้อยละ 95 ของปริมาณการนำเข้าทุเรียนของทั่วโลก ทุเรียนที่จีนนำเข้าส่วนใหญ่เป็นทุเรียนจากไทย

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ จีนมีการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามมากขึ้น อนึ่ง จีนเป็นประเทศที่มีข้อกำหนดสำหรับการนำเข้าทุเรียนที่เข้มงวด ปัจจุบันจีนอนุญาตให้มีการนำเข้าทุเรียนจากไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียเท่านั้น

สำหรับการนำเข้าทุเรียนในจีน ผู้เพาะปลูกและสถานประกอบการบรรจุต้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่ามีการดำเนินการที่สอดคล้องตามข้อกำหนดมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชและคุณภาพ ซึ่งรวมถึงบันทึกด้านการควบคุมศัตรูพืชและการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า ซึ่งอาจเป็นการยากสำหรับผู้ส่งออกรายใหม่ที่ประสงค์ส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน

มูลค่าทุเรียน ย้อนหลัง 10 ปี

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าสินค้านำเข้าเฉลี่ยต่อหน่วย Indicative Average Import Unit Value ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติชี้ว่าระหว่างปี 2564-2565 ราคาทุเรียนเฉลี่ยต่อปีสูงถึงประมาณ 5,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งถือว่าสูงกว่าราคากล้วยและผลไม้เขตร้อนสำคัญชนิดอื่นหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ ทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่อร่อย มีเอกลักษณ์โดดเด่น และเป็นสินค้าระดับสูง ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผู้บริโภคในจีน โดยทุเรียนจากไทยได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากรสชาติที่หวานอร่อยและคุณภาพเยี่ยม

รถไฟจีน-ลาว ช่วยขนส่งเร็วไม่ถึง 1 วัน

อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวของการนำเข้าทุเรียนจากไทย คือ การเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงระหว่างลาวและจีนในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังจีนสั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากเดิมที่ขนส่งทางรถบรรทุกหรือทางเรือ ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ ในปัจจุบันสามารถลดช่วงเวลาการขนส่งเหลือเพียง 15 ชั่วโมงเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาความสดใหม่ของสินค้าได้ดีกว่าเดิม

เปิดอุปสรรคการค้าทุเรียน

อนึ่ง รายงานภาคอุตสาหกรรมล่าสุดและข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกระแสการค้ารายเดือน (Monthly Trade Flow) ชี้ให้เห็นว่าการนำเข้าทุเรียนของจีนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 60 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ทุเรียนถือเป็นสินค้าที่แปลกใหม่และเป็นสินค้าตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Product) ในตลาดโลก

อย่างไรก็ดี ความเน่าเสียง่ายของทุเรียนสดทำให้การขนส่งสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศที่อยู่ห่างไกลจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ประกอบกับในหลาย ๆ ครั้ง ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้

ดังนั้น ทุเรียนในตลาดโลกส่วนใหญ่จึงเป็นทุเรียนแปรรูปในบรรจุภัณฑ์ อาทิ ทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนแห้ง ทุเรียนกวน และในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุปสรรคสำคัญในการเติบโตของการส่งออกทุเรียนในตลาดโลก ได้แก่ การรับรู้และความเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคยังไม่แพร่หลายมากนัก และราคาต่อหน่วย (Unit Price) สูง

อย่างไรก็ดี ในด้านภาพรวมการค้าสินค้าผลไม้เขตร้อน ทุเรียนยังเป็นสินค้าที่มีการค้าไม่มาก เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกของผลไม้เขตร้อนชนิดอื่น โดยเฉพาะกล้วย สับปะรด มะม่วง และอะโวคาโด

ราคาทุเรียนแพงกว่ามะม่วง-สับปะรด

ดัชนีมูลค่าการส่งออกต่อหน่วยเฉลี่ย (Average Export Unit Value) ของทุเรียนที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้มูลค่าการค้าทุเรียนทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการค้ามะม่วงและสับปะรดเฉลี่ย

ทุเรียนสินค้าส่งออกหลักของไทย

ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 2564-2565 คิดเป็น 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ทุเรียนเป็นสินค้าเกษตรส่งออกของไทยที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากสินค้ายางธรรมชาติและข้าวมูลค่าการส่งออกดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าทุเรียนเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้

ดังนั้น หากมีการรับรองคุณภาพสินค้า (Quality Assurance) มีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่งที่ดีก็จะทำให้ศักยภาพการจัดการต้นทุนได้ อนึ่ง ศักยภาพตลาดสำหรับการนำเข้าทุเรียนของประเทศที่มีรายได้สูง อาทิ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคและการเสริมสร้างความตระหนักถึงสินค้าของผู้บริโภค