“ทุเรียนไทย” ทะยาน 2 แสนล้าน ยืนหนึ่งคุณภาพสกัดคู่แข่ง

ทุเรียนไทย

ปี 2565 ไทยส่งออกทุเรียน มูลค่า 1.24 แสนล้านบาท ขณะที่การส่งออก 10 เดือนของปี 2566 พุ่งขึ้นไปเกินกว่าปีที่ผ่านมา แถมด้วยราคาที่จูงใจ 300-320 บาท/กก. ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่แห่เข้ามาปลูก และส่งออก แต่อนาคตทุเรียนไทยจะยังสดใสหรือไม่

“สมาคมทุเรียนไทย” (Thai Durian Association) ได้จัดเวทีเสวนา “สถานการณ์การค้าทุเรียน ตลาดและความนิยมของทุเรียนไทยในจีน เปรียบเทียบคู่แข่งทางการค้า เวียดนาม มาเลเซีย” ซึ่งสะท้อนภาพโดยกงสุลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว และนครเซี่ยงไฮ้ และกูรูผู้คร่ำหวอดในการส่งออกทุเรียนผลสดและแช่แข็งหลากหลายคน ได้มาฉายภาพการส่งออกทุเรียนปี 2567

แข่งเวียดนาม-มาเลย์

นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า ภายหลังโควิด-19 ปี 2566 การเติบโตของตลาดทุเรียนในตลาดจีนเป็นไปอย่างก้าวกระโดด เวียดนามเป็นคู่แข่งอย่างชัดเจน ระยะแรกมีผลกระทบราคา ตัวสินค้า ตอนนี้ทุเรียนไทยยังครองเจ้าตลาดได้ เพราะความเชื่อมั่นคุณภาพทุเรียนไทย แต่มี 5 ประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ

ได้แก่ 1) การขยายระบบการขนส่งรองรับผลผลิต ยกตัวอย่างปี 2566 การขนส่งผลไม้ไปจีน ทุเรียน มังคุด ปริมาณ 900 ตู้/วัน ส่งทางบก 300 ตู้/วัน ทางเรือ 500 ตู้/วัน ต้องไม่มีปัญหาติดกระจุกตัวที่ด่าน 2) การเชื่อมโยงข้อมูลผลผลิตทุเรียนอาเซียน เพื่อทำงานร่วมกัน 3) การควบคุมคุณภาพทุเรียน การเข้ามาลงทุนของคนจีนเพิ่มขึ้น

4) ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง 30-50บาท/กก. ทำอย่างไรให้การผลิตมีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำลง มีส่วนต่างกลับมาพัฒนาการผลิตได้ และ 5) การเตรียมการรองรับอุตสาหกรรมทุเรียนแช่แข็ง ให้มีคุณภาพ มาตรฐานการผลิต

นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว กล่าวว่า ภาพรวมจีนนำเข้าผลไม้ คือ ทุเรียน เป็นอันดับ 1 ปี 2565 นำเข้าทุเรียนจากทุกประเทศ 824,460 ตัน มูลค่า 4,032 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) จีนนำเข้าทุเรียนจากทุกประเทศ 1,360,192 ตัน มูลค่า 6,381 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบปีก่อนมูลค่าเพิ่มขึ้น 27%

โดยจีนอนุญาตให้ 3 ประเทศนำทุเรียนผลสด ได้แก่ ไทย ปริมาณ 69.30% เวียดนาม 30.52% ฟิลิปปินส์ 0.19% ด้านทุเรียนแช่แข็ง ปัจจุบันจีนนำเข้าจากมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วน 24.01% ไทย 75.99% และส่วนทุเรียนอบแห้ง นำเข้าจากไทย 100% อนาคต สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย กำลังเจรจาขอนำเข้าทุเรียนผลสด และเวียดนามกำลังขออนุญาตนำเข้าทุเรียนแช่แข็ง คาดว่าจะได้รับอนุญาตเร็ว ๆ นี้

นางสาวอาทินันท์ อินทรพิมพ์ กงสุลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2565 ไทยมีคู่แข่งใหม่ คือ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ปี 2565 ทุเรียนไทยครองตลาดจีน 95% ปริมาณ 784,010 ตัน มูลค่า 3,844 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีการนำเข้าทุเรียนเวียดนาม 5% ปริมาณ 40,861 ตัน มูลค่า 188 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเริ่มนำเข้าปลายปี

ทั้งนี้ ปี 2566 (ม.ค-ต.ค.) ปริมาณทุเรียนไทยส่งออก 904,178 ตัน มูลค่า 4,422 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนลดเหลือ 66.47% และทุเรียนเวียดนาม ปริมาณ 452,688 ตัน เพิ่มขึ้น 31.2% มูลค่า 1,947 ล้านเหรียญสหรัฐ ฟิลิปปินส์ 3,326 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 0.24% มูลค่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ อนาคตมาเลเซีย และอินโดนีเซียจะนำเข้าเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันเวียดนาม มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 689,000 ไร่ ผลผลิตมากกว่า 863,000 ตัน สวนที่ขึ้นทะเบียน 422 แห่ง ล้งที่ขึ้นทะเบียน 153 แห่ง ฟิลิปปินส์ พื้นที่ปลูกทุเรียน 450,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 900,000 ตัน สวนที่ขึ้นทะเบียน 183 แห่ง ล้งที่ขึ้นทะเบียน 10 แห่ง มาเลเซีย พื้นที่ปลูกทุเรียน 533,000 ไร่ ผลผลิต 450,000 ตัน

คาดว่ามาเลเซียจะได้รับอนุญาตส่งไปจีน เดือนพฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ สถาบันวิจัยการเกษตรมาเลเซียอยู่ระหว่างศึกษาวิธีเก็บรักษายืดอายุทุเรียนสด 7-21 วัน และจะใช้สัญลักษณ์พิเศษเพื่อแยกแยะทุเรียนพันธุ์ “มูซังคิง” ของมาเลเซีย ออกจากทุเรียนไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

โดยอินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 632,000 ไร่ ผลผลิต 1,580,000 ตัน พยายามเร่งเจรจาเปิดตลาดส่งออกทุเรียนสดไปจีนเช่นกัน

เวียดนามรุกเสียบแทนไทย

นายปรัตถกร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลาดทุเรียนเจียงหนาน ก่อนหน้านี้ไทยเป็นผู้ค้ารายเดียว ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ทุเรียนมีปริมาณน้อย ราคาทุเรียนสูงขึ้น แต่ปีนี้ทุเรียนเวียดนามเข้ามาทดแทนช่วงดังกล่าว มีปริมาณมากกว่าไทย และทุเรียนไทยเริ่มมีคุณภาพไม่ดี ทำให้ราคาทุเรียนไทยไม่สูงเหมือนก่อน

นางสาวลิลพัชร์ ทองโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะลิส อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปี 2566 ทุเรียนไทยทำคุณภาพค่อนข้างดี โดยเฉพาะทุเรียนภาคตะวันออก เช่น จ.จันทบุรี เดือนเมษายน-พฤษภาคมดีมาก ด้วยสภาพอากาศดี ปี 2567 คาดว่าผลผลิตจะล่าช้าประมาณเดือนพฤษภาคมและปริมาณลดลง ทำให้ต้องเตรียมทุเรียนจากภาคอื่น ๆ และประเทศเพื่อนบ้านส่งออกไปทดแทนในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งมีทุเรียนเวียดนามออกบ้าง

ต่อจากนี้ทุเรียนจะมีส่งออกทั้งปี ทุเรียนไทยขาดช่วงจะมีทุเรียนเวียดนามมาทดแทน ถ้าทุเรียนไทยคุณภาพไม่ดี ทำให้ราคาปลายทางตก เป็นห่วงโซ่ทำให้ราคารับซื้อจากเกษตรกรต่ำลงไปด้วย บริษัทใหญ่ของจีนอาจจะไม่มีเงินเหมือนปีก่อน ๆ อาจจะชะลอการลงทุน ต้องช่วยกันทำทุเรียนคุณภาพทั้งหมด นอกจากศัตรูพืชแล้ว เนื้อทุเรียนต้องแห้ง ไม่อมน้ำ

“เวียดนามพยายามพัฒนาตัวเอง ขณะที่คนจีนที่อยู่เวียดนามเริ่มรู้ว่าทำอย่างไรให้ของขายดี ถ้าทำดี แบรนด์น่าเชื่อถือ ขายได้ทั้งปี จันทบุรีมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพชัดเจน จังหวัดอื่น ๆ ควรทำแบบเดียวกัน เวียดนามไม่มีการตรวจ แต่มีการสุ่มตรวจที่ด่าน” นางสาวลิลพัชร์กล่าว

ห่วงตะวันออกไม่ออกดอก

นายนครินทร์ วนิชย์ถนอม ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาดสมาคมทุเรียนไทย และบริษัท ซินฟงผลไม้ จำกัด ล้งทุเรียนคุณนนท์ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนมา 4 ปี วางจำหน่ายในห้างซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายให้กับลูกค้าโดยตรง

เน้นส่งออกทุเรียนทางเลือกพันธุ์เบญจพรรณ ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงของทุเรียนภาคตะวันออกตอนนี้คือ ดอกทุเรียนยังไม่ออก จากสภาพอากาศ เกรงว่าจะส่งผลกระทบการส่งออกทุเรียนเบญจพรรณ หากเข้าฤดูฝน เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะมีปัญหาคุณภาพ

โดยทุเรียนของบริษัทที่ส่งไปจีนไม่ได้ขายขาด หากคุณภาพไม่ดีจะถูกจีนตีกลับมา ทำให้ขาดทุน ดังนั้น ราคาที่รับซื้อจากเกษตรกรจะต่ำเป็นห่วงโซ่ แม้ฤดูกาลอากาศจะผิดเพี้ยนไป เกษตรกรต้องรักษาคุณภาพให้คงไว้

ด้าน นายกิตติรัช กนกนาก บริษัท ฟาร์มฟรุ๊ต จำกัด กล่าวว่า บริษัททำทุเรียนแช่แข็งส่งไปตลาดอเมริกา 80% ตลาดจีน 20% ใช้พันธุ์หมอนทองเป็นหลักทั้งแบบแช่แข็งทั้งลูกและแยกเฉพาะเนื้อทุเรียน โดยตลาดไต้หวันนิยมหมอนทอง เน้นเนื้อแห้งเป็นครีม น้ำน้อย ตลาดฮ่องกงชอบพันธุ์มูซังคิงแช่แข็ง แต่ต้องดูรสชาติ โดยมูซังคิงของไทยกับมาเลเซียต่างกัน และมีการเลือกรูปทรง พู เนื้อ เพราะมีการนำมาแปรรูปแยกส่วนเพิ่มมูลค่า เนื้อแข่งขันกันสูง ต้องเนื้อครีมเส้นใยน้อย

“ปัจจุบันจีนนำเข้าทุเรียนแช่แข็งจากไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยจีนเริ่มเข้ามาแปรรูปในไทยส่งออก ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 50-60% ต้องรอระบายช่วงตรุษจีนนี้ (ก.พ.-.มี.ค.) ต้นทุนสูงขายยาก ขายได้ช้า ต้องลดราคา แต่สินค้าแยกเกรดจะขายได้ราคาดี” นายกิตติรัชกล่าว

ด้านนางสาวลิลพัชร์กล่าวเสริมว่า การบริหารทุเรียนส่งออกขายจีน สินค้าหลายแบรนด์เน้นพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก ออร์เดอร์และวอลุ่มจำนวนมาก ปีนี้ออร์เดอร์ประมาณ 5,000 ตู้ ระบุหมอนทองเช่นกัน มีพันธุ์อื่น ๆ อยู่บ้าง เช่น ชะนี

นายนครินทร์ กล่าวว่า ตอนนี้จีนนำเข้าทุเรียนจากหลายประเทศยังคงทำตลาดได้ แต่ราคาจะปรับลง เปรียบเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสลายืนหนึ่งขายดีอยู่ตลอด ต่อให้หลายบริษัทเป็นคู่แข่ง ของยังขายได้แต่กระทบกับราคา ตามหลักดีมานด์ ซัพพลาย ผู้บริโภคเลือกความคุ้มค่าในการซื้อ หมายถึงทุเรียนหยิบขึ้นมาลูกไหนก็อร่อย

ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดห่วงโซ่อุปทาน CLMV ได้ทุบโต๊ะว่า ทุเรียนไทยปี 2567 ยังสดใส สร้างมูลค่าเหยียบ 200,000 ล้านบาท