ย้อนรอยญี่ปุ่นแผ่นดินไหวปี 54 และอนาคตไทยกับ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์”

Lignite fired power plant near Cottbus

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 7.6 แมกนิจูดในจังหวัดอิชิคาวะ ประเทศญี่ปุ่น  เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา จนทำให้มียอดผู้เสียชีวิต 62 ราย (ณ วันที่ 3 มกราคม 2566 ) รวมถึงคาดว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อกระดับ 7 แมกนิจูดในสัปดาห์หน้า

แต่อย่างไรก็ตามยังอยู่ในสถานการณ์รับมือได้ โดยเฉพาะ ”โรงไฟฟ้านิวเคลียร์“ เพราะหน่วยงานกำกับดูแลนิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่น รายงานว่า ยังไม่พบความผิดปกติในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จำนวน 5-6 แห่ง ในพื้นที่ดังกล่าว

ย้อนรอยเหตุการณ์แผ่นดินไหวญี่ปุ่นปี 54

ไม่เหมือนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ญี่ปุ่นต้องเจอกับแผ่นดินไหวขนาด 9 แมกนิจูดและคลื่นสึนามิขนาดยักษ์ เรียกว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของภูมิภาคโทโฮกุ (Great Tohoku Earthquake) หรือ แผ่นดินไหวโตโฮกุ 2011 ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู

จนทำให้มียอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 18,000 รายและผู้อพยพเกือบ 500,000 ราย รวมถึงยังกระทบถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะหมายเลข 1 (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) ในเมืองโอคุมะ จังหวัดฟุกุชิมะ

REUTERS/Mainichi Shimbun

จากรายงานข่าวของบีบีซี ไทย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2564 ระบุว่า ผลจากแผ่นดินไหวและสึนามิทำให้ระบบควบคุมต่าง ๆ ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิหยุดชะงักส่งผลให้ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขัดข้องจนเกิด “การหลอมละลายนิวเคลียร์ (Nuclear Meltdown)” ตลอดจนการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ภายหลังที่อาคารได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสึนามิ นับได้ว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดของโลก หลังภัยพิบัติเชอร์โนบิลเมื่อปี 2529

จนกลายเป็นภาพจำของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ว่าเป็นอันตรายและน่ากลัว ทำให้เมื่อพูดถึงคำว่า นิวเคลียร์ พลัวงงานนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กลายเป็นดั่งคำต้องห้ามของภาคพลังงานในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยก็เช่นกัน ถึงความปลอดภัยของนิวเคลียร์

ผ่านมา 12 ปี “นิวเคลียร์” ในวันนี้คืออนาคต

ทว่า หากโลกต้องเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด พลังงานนิวเคลียร์ดเองก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งโซลูชั่นใหม่สำหรับอนาคตของโลกที่จะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โซลูชั่นใหม่สำหรับอนาคตของโลกที่จะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

เนื่องจากพลังงานที่ผลิตในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เกิดจากการแยกอะตอมจากแกนกลางหรือนิวเคลียสเพื่อให้เกิดพลังงาน ซึ่งกระบวนดังกล่าวเรียกว่า นิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear Fission) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ (Low-carbon power source)

Freepik/wirestock

แต่อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โลกเริ่มเปลี่ยนไปหา นิวเคลียร์ฟิวชั่น (Nuclear Fusion) เกิดจากการจับคู่อะตอมเพื่อสร้างพลังงานมหาศาลออกมาในรูปแบบของความร้อนผ่านพลาสม่า (Plasma) ซึ่งต้องอาศัยอุณหภูมิที่สูงระดับสิบล้านองศาเซลเซียส ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเช่นเดียวกับที่เกิดบนดวงอาทิตย์ จนทำให้หากต้องการใช้พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นก็จำเป็นจะต้องมีดวงอาทิตย์เทียม (artificial sun) ซึ่งเป็นโครงการที่หลายประเทศอย่างจีน สหภาพยุโรปและสหรัฐกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา

แล้วนิวเคลียร์ฟิวชั่นดีกว่านิวเคลียร์ฟิชชั่นแบบเดิมอย่างไร ข้อมูลจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระบุว่า นิวเคลียร์ฟิวชั่นสามารถผลิตได้มากกว่า 4 เท่าของพลังงานต่อกิโลกรัมของเชื้อเพลิงที่ผลิตได้ในกระบวนการฟิชชั่น (หรือที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ณ ปัจจุบัน) และมากกว่าเกือบ 4 ล้านเท่าของพลังงานที่ได้จากการเผาไหม้ของน้ำมันและถ่านหิน นอกจากนี้เชื้อเพลิงที่ใช้ในปฏิกิริยานี้ยังมีปริมาณมากและเข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะเป็นดิวเทอเรียม(deuterium) หรืออีกชื่อว่า ไฮโดรเจนหนัก ก็สามารถสกัดได้จากน้ำทะเล รวมถึง ทริเทียม (tritium) ที่เป็นไอโซโทปหนึ่งของไฮโดรเจนก็สามารถผลิตได้จากปฏิกิริยาฟิวชั่นที่ผลิตนิวตรอนและลิเทียมซึ่งมีอยู่จำนวนมากในธรรมชาติ

อีกทั้งยังคาดว่า ปฏิกิริยาฟิวชั่นจะไม่ก่อให้เกิดสารกัมมันตรังสีและกากนิวเคลียร์ที่มีต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะสลายตัว รวมถึงยังมีโอกาสเสี่ยงต่ำที่จะเกิดอุบัติเหตุอย่างการหลอมละลายนิวเคลียร์เพราะปฏิกิริยาฟิวชั่นจะหยุดตัวเองโดยอัตโนมัติ และที่สำคัญคือ ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงทำให้นิวเคลียร์ฟิวชั่นอาจเป็นแหล่งพลังงานระยะยาวในการผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำในอีกครึ่งศตวรรษต่อจากนี้

ไทยเดินหน้านิวเคลียร์ “Small Modular Reactor”

แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนิวเคลียร์ฟิวชั่น ประเทศไทยก็ไม่ตกเทรนด์เรื่องพลังงานนิวเคลียร์ เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เตรียมนำเสนอโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear power plant หรือ NPP) รูปแบบ Small Modular Reactor (SMR) ในแผนพลังงานชาติ 2023 (National Energy Plan)

Small Modular Reactor หรือ SMR คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระดับสูงขนาดเล็กที่สามารถผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำได้ด้วยกำลังผลิต 300 เมกกะวัตต์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิม ซึ่งข้อดีของ SMR ที่แตกต่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิมนั้น ได้แก่

ระยะเวลาที่ใช้ในการสร้างประมาณ 3-4 ปี จากปกติที่ 6-8 ปี เพราะสามารถผลิตโมดูลได้ภายโรงงานพร้อมขนส่งและนำมาติดตั้งในพื้นที่ได้เลยทันที รวมถึงยังใช้พื้นที่น้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิม ทำให้หากเกิดการรั่วไหล่ของสารกัมมันตรังสีก็จะส่งผลกระทบน้อยกว่าและความเสียหายจะเกิดในบริเวณแคบ ๆ เท่านั้น ประมาณ 1 กิโลเมตรรอบโรงงาน ซึ่งน้อยกว่าแบบเดิมถึง 16 เท่า

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR
ภาพจำลองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR
ภาพจาก : กฟผ.

อีกทั้งยังลดความถี่ในการเติมเชื้อเพลิง จากเดิมที่ต้องเติมเชื้อเพลิงทุก 1-2 ปี ก็เปลี่ยนมาเป็นทุก 3-7 ปีแทน และที่สำคัญคือ SMR มีความปลอดภัยสูง เพราะระบบสามารถปิดตัวเองได้ตามปรากฎการณ์ทางกายภาพ จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงจากมนุษย์หรือพลังงานภายนอก รวมถึงยังปล่อยกากกัมมันตรังสีก็ยังน้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่

แม้อนาคตของนิวเคลียร์ในประเทศไทยก็ยังอีกยาวไกลและอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายของประเทศ ทว่าก็อย่าปิดโอกาสให้กับอีกโซลูชั่นของพลังงานสะอาด เพราะนิวเคลียร์ก็อาจเป็นอีกคำตอบหนึ่งที่เราตามหา