โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไซส์เล็ก “SMR” มีลุ้น

นิวเคลียร์ไซส์เล็ก

แม้ว่าความเสียหายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นฝันร้ายของประชาชนทั่วโลก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พลังงานนิวเคลียร์” กำลังจะกลายเป็นโซลูชั่นใหม่สำหรับอนาคตของโลกที่มุ่งสู่เนตซีโร่

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) กล่าวว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ต้องใช้ปฏิกิริยาเผาไหม้ ใช้เพียงปฏิกิริยาฟิวชั่นและฟิชชั่น ซึ่งใช้เชื้อเพลิงน้อยเมื่อเทียบกับถ่านหิน

“หลายประเทศต่างสนใจเรื่องนี้ แต่ปฏิกิริยาฟิวชั่นยังเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะพลังงานฟิวชั่นเป็นแหล่งพลังงานที่เหมือนกับดวงอาทิตย์ เท่ากับว่ากำลังจะสร้างดวงอาทิตย์ขึ้นอีกดวงหนึ่ง เนื่องจากต้องใช้อุณหภูมิที่สูงระดับ 200 ล้านองศาเซลเซียส และรักษาระดับและควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนในโลกสามารถทำได้และกำลังอยู่ในช่วงการศึกษา แต่คาดว่าอีกไม่เกิน 20 ปีนี้ก็น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้น”

ขณะนี้หลายประเทศเริ่มทดลองเรื่องนี้ อาทิ จีนใช้สนามแม่เหล็กควบคุมปฏิกิริยาฟิวชั่น หรือโครงการ Artificial Sun ของจีน ที่ทดลองการสร้างพลาสมาที่อุณหภูมิ 120 ล้านองศาเซลเซียส ได้ในระยะเวลาประมาณ 2 นาที และพัฒนาจนสามารถรักษาอุณหภูมิ 70 ล้านองศาเซลเซียสได้เป็นเวลา 17 นาที แสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่พลังงานฟิวชั่นอย่างแท้จริง

“ผมมองว่าจีนจะเป็นประเทศแรกที่สามารถนำพลังงานฟิวชั่นมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะโครงการของสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ (ASIPP) ได้ทดลองเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น มีชื่อว่า EAST และเตรียมต่อยอดไปสู่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น CFAPR ที่จะเริ่มสร้างในปี 2036 และจะแล้วเสร็จในปี 2050 ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์”

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นไปสู่โรงไฟฟ้าในโครงการระดับนานาชาติ เรียกว่า ITER (International Thermonuclear Experimental Reactor) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน และเกาหลีใต้ ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบได้ในปี 2026

นายศิริวัฒน์กล่าวว่า ตอนนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย แบบ Small Modular Reactor (SMR) เปรียบเทียบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วไปแล้วจะพบว่า SMR นั้นแม้จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 300 เมกะวัตต์ แต่ก็ใช้พื้นที่น้อยแค่ประมาณ 100 ไร่

รวมถึงการจัดทำแผนฉุกเฉินในรัศมีก็ยังน้อยกว่า 1 กิโลเมตร หมายความว่าพื้นที่ความเสียหายจะเกิดแค่บริเวณแคบ ๆ เท่านั้น เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปที่ต้องทำแผนฉุกเฉินถึง 16 กิโลเมตรรอบโรงงาน และมีปริมาณกากกัมมันตรังสีน้อยกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

“SMR มีข้อได้เปรียบ เพราะสามารถทำงานร่วมกับพลังงานหมุนเวียนและใช้ผลิตไฮโดรเจนได้ รวมถึงสามารถใช้แทนโรงไฟฟ้าฟอสซิลได้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ค่าไฟถูก ไม่ผันผวนตามราคาเชื้อเพลิงโลก แต่อย่างไรก็ตาม การสร้าง SMR นั้นจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยี เงินทุน กรอบกฎหมาย ชุมชนและสิ่งแวดล้อม”

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR
ภาพจำลองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ภาพจาก : กฟผ.

ล่าสุดคาดว่าจะมีการนำเสนอกำหนดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear power plant หรือ NPP) ในแผนพลังงานชาติ 2023 (NEP) และส่งให้ทางคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดย NPP ระยะที่ 1 จะใช้ระเวลา 2-3 ปี เพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะมีการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้และสถานที่ตั้ง

ส่วนระยะที่ 2 จะใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานศึกษาให้เหมาะสม และทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับ (EHIA) พร้อมขออนุมัติโครงการและขออนุญาตสถานที่ติดตั้ง

ต่อมาคือระยะที่ 3 คือการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในส่วนนี้จะเป็นการขออนุญาตก่อสร้างมีการทดสอบเดินเครื่องและการขออนุญาตเดินเครื่อง และระยะสุดท้ายคือการเดินเครื่องบำรุงรักษาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง 60 ปี โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 13-16 ปี

“เมื่อรัฐบาลอนุมัติแผน PDP เสร็จเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลต้องทบทวนความพร้อมและเตรียมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้รองรับการศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และที่สำคัญคือ ต้องสื่อสารและให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ตลอดจนจัดการกฎหมายและกฎระเบียบให้ครอบคลุมเรื่องนิวเคลียร์ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอุตสาหกรรม”