กฟผ.ไร้ผู้ว่าการลากยาว กระทบลงทุนโรงไฟฟ้า จัดซื้อ-จัดจ้างป่วน

เปิดข้อมูล กฟผ.แบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนเพิ่มอีกเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท

กฟผ.ไม่เพียงเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องนำเงินคืนรัฐ แต่ยังต้องมาแบกภาระในการดูแลค่าไฟของประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน แม้ว่า กฟผ.จะออกมายืนยันว่า สถานะการเงินล่าสุดยังมีกระแสเงินสดอยู่ถึง 91,000 ล้านบาท ในสิ้นปี 2566

แต่หลายฝ่ายก็ห่วงกังวลถึงทิศทางการทำงานของ กฟผ. ที่ “ไร้บอร์ด” มานานกว่า 2 เดือน นับจาก คณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) ชุดเก่าได้ลาออกไปทั้งชุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 หลังจาก นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานบอร์ด กฟผ. เกษียณอายุราชการ นั่นหมายถึง บอร์ด กฟผ.ว่างมาข้ามปีแล้ว

โดยกระบวนการตั้งบอร์ด กฟผ. จะเป็นไปตาม พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) จะต้องมีการเปิดรับสมัคร คณะกรรมการสรรหา แล้วส่งให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามประกาศการสมัครคณะกรรมการบริหาร กฟผ.ต่อไป

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ประเมินว่า จะสามารถเสนอรายชื่อคณะกรรมการ กฟผ.ชุดใหม่ ให้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ภายใน 1 เดือนนับจากกลางเดือนตุลาคม 2566

แต่เมื่อกระบวนจัดตั้งบอร์ด กฟผ. จะต้องเปิดรับสมัครก็จะส่งผลให้การแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ต้องล่าช้าลงไปด้วยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยล่าสุด นายประเสริฐกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระบวนการตั้งบอร์ด กฟผ.อยู่ที่ คนร. คาดว่าจะได้ข้อสรุปเสนอคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนมกราคม 2567

สรรหาผู้ว่าการ กฟผ.ลากยาว

ผลจากการตั้งบอร์ด กฟผ.ที่ล่าช้า จะมีเอฟเฟ็กต์ต่อการดำเนินงานหลายด้านที่ยังคงคั่งค้างอยู่ โดยอันดับแรกคือ การสรรหาผู้ว่าการ กฟผ.ที่ค้างอยู่ ย้อนกลับไปถึงกระบวนการเดิม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ได้ผ่านขั้นตอนการสรรหา อีกทั้งบอร์ด กฟผ. ที่มี นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบไปตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2566 ไปแล้ว

แต่ภายหลังเมื่อเสนอชื่อให้กับ ครม.รัฐบาลรักษาการพิจารณา กลับ “ติดข้อจำกัด” ในเรื่องอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการ จึงต้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็น แต่ กกต.พิจารณาแล้ว “ไม่เห็นเป็นเรื่องเร่งด่วน” นั้นหมายความว่า จะต้องให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นผู้ให้ความเห็น

ดังนั้น เมื่อต้องเปลี่ยนบอร์ด กฟผ.ชุดใหม่ จึงต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาว่า นายเทพรัตน์ ยังมีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน

แต่ผลของกระบวนการตั้งบอร์ด กฟผ.ที่ล่าช้า จะทำให้ “แคนดิเดต” ผู้ว่าการ กฟผ.เดิม ทั้งผู้ที่ได้รับการสรรหาไปแล้วจากรัฐบาลชุดที่แล้วอย่าง “นายเทพรัตน์” รวมถึงบุคคลที่อยู่ในลิสต์แคนดิเดตระดับรองผู้ว่าการ กฟผ. อย่าง นางสาวจิราพร ศิริคำ ก็จะ “ตกเกณฑ์” ไม่สามารถสมัครใหม่อีกรอบได้ เพราะหากคำนวณตามคุณสมบัติ วันสมัครอายุการทำงานเหลืออยู่ไม่ถึง 2 ปี

อย่างไรก็ตาม กฟผ.ยังไม่สามารถสรรหาผู้ว่าการคนใหม่ ก็จะส่งผลเชื่อมโยงถึงการแต่งตั้งบุคลากรในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ. อย่าง “รองผู้ว่าการ กฟผ.” ที่ว่างอยู่ 3 ตำแหน่ง หลังจากรองผู้ว่าการ กฟผ. เกษียณอายุพร้อมกันเมื่อ 30 กันยายน 2566 คือ นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์, นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง และนางสาวนพวรรณ กาญจนะวรรณ รองผู้ว่าการบริหาร

จึงเหลือรองผู้ว่าการ กฟผ.อยู่เพียง 5 คน แต่เมื่อไม่มีผู้ว่าการ กฟผ. ก็ไม่มีการเสนอชื่อ รองผู้ว่าการ กฟผ.ใหม่ ทำให้ตำแหน่งรองผู้ว่าการ กฟผ. ว่างมา 3 เดือนกว่าแล้ว ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือจะไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ได้ เพราะโดยปกติ กฟผ.จะแบ่งอำนาจหน้าที่ให้รองผู้ว่าการ กฟผ.ดูแลเรื่องต่าง ๆ เช่น ระบบส่ง

แน่นอนว่า รายชื่อแคนดิเดตผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ เฉพาะที่อยู่ในองค์กรจึงลดลงเหลือ 3 คน คือ นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน, นางพัชรินทร์ รพีพรพงศ์ รองผู้ว่าการด้านการเงิน (CFO) และนายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง ส่วนแคนดิเดตหน้าใหม่ เช่น ผู้ช่วยผู้ว่า การ กฟผ. คนอื่นก็ยังไม่ได้ขยับขึ้นมาเป็นระดับ “รอง” เต็มตัว

จัดซื้อจัดจ้าง กฟผ.ป่วน

ที่สำคัญ การแต่งตั้งบอร์ด กฟผ. ยังผูกโยงไปถึงการดำเนินงานสำคัญ ๆ ในการขับเคลื่อนแผนงานของ กฟผ. โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างโครงการใหม่ ๆ ซึ่งต้องอธิบายว่า “อำนาจการจัดซื้อจัดจ้าง กฟผ.” นั้น หากเป็นโครงการที่มีวงเงินเกินว่า 200 ล้านบาท ถือเป็นอำนาจของบอร์ด โดยมีหลักเกณฑ์ผ่องถ่ายโครงการที่มีวงเงิน 200-700 ล้านบาท ให้สามารถใช้ “ซับบอร์ด” หรือ Executive Committee เป็นผู้พิจารณา ดังนั้นการที่ไม่มีบอร์ด อำนาจตรงนี้ไม่สามารถดำเนินการได้

แน่นอนว่า โครงการลงทุนค้างท่อจะมีจำนวนมากที่ลากยาวออกมา เช่น โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อทดแทนเครื่องที่ 8-9 ที่ถูกปลดออกจากระบบไฟฟ้า ซึ่งในปีก่อนได้มีการเข้าสู่กระบวนการจัดหา-จัดจ้างแล้ว แม้ว่าอนุกรรมการต่าง ๆ เห็นชอบไปแล้ว ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 เหลือเพียงแต่เข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดเท่านั้น แต่แล้วก็มีการยุบบอร์ดเดือน ก.ย. จึงทำให้โครงการลงทุนระดับ 47,400 ล้านบาท ต้องลากยาวออกมา “คนไม่ค่อยสนใจประมูลทำโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว แต่เมื่อยกเลิกไปก็ต้องมีการอนุมัติทำใหม่ แต่เมื่อไม่มีบอร์ดก็ไม่มีคนอนุมัติ”

โซลาร์ลอยน้ำล่าช้า

ไม่เพียงแต่ระบบโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ กฟผ.ยังมีแผนงานในการจัดทำ โครงการโซลาร์ลอยน้ำ หรือ Floating Solar ในเขื่อนทางภาคตะวันตกอีก 3 เขื่อน เช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก, เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบรี รวมกำลังการผลิตอีกนับ 1,000 MW ที่กำลังรอเสนอบอร์ด โดยโครงการเหล่านี้ได้ผ่านการอนุมัติตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับปรับปรุง (PDP 2018 Rev 1) ไปแล้ว ต้องขอให้เร่งอนุมัติโครงการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้เดินหน้า

นอกจากนี้ การไม่มีบอร์ดยังกระทบต่อแผนการลงทุนเรื่อง “ระบบสายส่ง” ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานขนาดใหญ่ที่ กฟผ.วางไว้ แม้ว่าโครงการสายส่งนี้จะมีการแตกเป็นโครงการย่อย ซึ่งให้อำนาจระดับรองผู้ว่าการ กฟผ.พิจารณาได้ แต่ “รองผู้ว่าการ กฟผ.” ก็ยังว่างเหลือแต่รักษาการ

โดยโจทย์หลัก ๆ ที่บอร์ด กฟผ. จะให้ผู้ว่าการใหม่คนใหม่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญ อาทิ การแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น

กฟผ.ตกเกณฑ์วัดผล KPI

สุดท้ายการไม่มีบอร์ด กฟผ. และผู้ว่าการคนใหม่ ก็จะย้อนกลับมาที่ตัว กฟผ.เอง เมื่อโครงการใช้เงินลงทุนไม่สามารถทำได้ ผลที่จะตามมาก็คือ กฟผ. จะตกเกณฑ์ดัชนีชี้วัดการทำงาน หรือ KPI ที่วัดผลเรื่องการใช้เงินลงทุนประจำปี ซึ่งในงบประมาณของปี 2566 นั้นจบไปแล้ว แต่ตอนนี้กำลังเข้าสู่ปีงบประมาณ 2567 หากงบประมาณผ่าน กฟผ.จะมีระยะเวลาเบิกจ่ายงบประมาณไปถึงเดือนธันวาคม (ต่างจากราชการที่จะสิ้นสุดปีงบประมาณในเดือนกันยายน)

แต่แน่นอนว่า หากการแต่งตั้งล่าช้าก็จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณไม่ได้ตาม สคร.ตั้งเกณฑ์ไว้ว่า แต่ละปีจะต้องเบิกจ่ายได้ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 95% ของงบประมาณทั้งหมด โดยมีบอร์ดทำหน้าที่ประเมินผลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (SUB PAC)

นอกจากนี้ หากโครงการลงทุนใหม่ที่เป็นโครงการโซลาร์โฟลตติ้งใน 3 เขื่อนไม่ได้ตามเป้าหมาย ผลเสียจะไม่ได้ตกอยู่ที่ กฟผ.ตกเกณฑ์ KPI ด้านการใช้เงินลงทุนเท่านั้น แต่ประเทศไทยอาจจะเสี่ยงต่อการที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการตั้งความเป็นทางกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 2050 และการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ในปี 2065 ตามที่ได้ประกาศไว้ก็ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ประเมินว่า จะสามารถเสนอรายชื่อ