“เพิก เลิศวังพง” ดันโฉนดไม้ยาง-EUDR 100%

‘เพิก เลิศวังพง
เพิก เลิศวังพง
สัมภาษณ์พิเศษ

ก่อนที่จะมีการประชุมบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) นัดแรก ในวันที่ 25 มกราคม 2567 “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.เพิก เลิศวังพง” หรือวงการชาวสวนยางเรียกขานกันว่า “เสือเพิก” ประธาน บอร์ด กยท. คนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่ง หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

ด้วยประสบการณ์ในตำแหน่ง รองผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร กรรมการตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก เลขาธิการคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ปรึกษา บริษัท เอสเฟรม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรแห่งประเทศไทย ทำให้ “ดร.เพิก” ประกาศความชัดเจนแผนงานที่จะคิกออฟทันที

โฉนดไม้ยางรับสินเชื่อ ธ.ก.ส.

เรื่องแรกที่จะทำคือ โฉนดไม้ยาง จะลงนามบันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวันที่ 12 มกราคม 2567 เพื่อสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรที่จะใช้โฉนดไม้ยาง เป็นหลักประกันทางธุรกิจเช่นเดียวกับไม้ยืนต้น 52 ชนิด

โครงการนี้เบื้องต้นคาดว่าโฉนดไม้ยางทั้งประเทศ 22 ล้านไร่ จะสามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าได้หมด เหมือนกับโฉนดที่ดิน แต่นี่เป็นโฉนดต้นไม้ที่เราเป็นคนปลูก ซึ่งปกติต้นยางอายุ 25 ปี หากโค่นจะมีมูลค่าต้นละ 500 บาทอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่โค่น ธนาคารก็ได้ดอกเบี้ย

“การทำโฉนดไม้ยาง เราจะรู้ว่ายางทุกต้นอยู่ตรงไหน จะสามารถจัดทำแผนบริหารจัดการทำโซนนิ่งได้ ชาวสวนจะสามารถเอาเงินอนาคตมาบริหารใช้ประโยชน์ เหมือนอย่างโฉนดที่ดิน ส.ป.ก.”

นอกจากสินเชื่อเกษตรแล้ว ผมลงพื้นที่ไปที่หาดใหญ่ ผู้ประกอบการอยากได้ความชัดเจนกว่าที่ผ่านมา เพื่อจะยกระดับราคายาง ผมจะเสนอรัฐบาลจัดทำสินเชื่อซอฟต์โลน เพื่อให้ผู้ประกอบการ เอกชนที่รับซื้อยาง มีเงินที่จะมาหมุนเวียนในระบบ เพื่อมาซื้อยางจากเกษตรกร อาจจะดอกเบี้ย 2-3% ต่ำกว่าที่คิดกันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ระบบเดินหน้าไปเอง ทุกคนต้องตามกันทัน

สร้างมูลค่าเพิ่มจาก EUDR

“ตอนนี้ราคายางขยับขึ้น 10 บาทต่อ กก. แต่อนาคตจะไปได้มากกว่านี้ เพราะเรากำลังจะทำมาตรฐาน EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ที่จะไปยึดโยงทั้งหมดเรื่อง FSC การตรวจสอบย้อนกลับการปลูกยาง โดยเราจะย้อนลงล่างไปที่จุดรับซื้อ 500 ตลาด เกษตรกรต้องแสดงตัวว่าคือใคร ปลูกที่ไหน เพื่อจะบอกว่าไม่มีการรุกป่า และเมื่อขายแล้วตลาดก็ส่งต่อไปให้ผู้ประกอบการที่จะไปขายให้กับโรงงานยางล้อ โรงงานหมอนที่นอน ซึ่งเมื่อโรงงานพวกนี้ใช้ผลิตภัณฑ์ไปส่งยุโรปก็จะส่งออกไปได้เพราะเข้มเรื่อง EUDR”

“คนอาจจะมองว่าเราส่งออกยุโรป 10% ไม่เห็นจำเป็นต้องไปทำ EUDR เลย อีก 90% ไปที่อื่น แต่ลูกค้า 90% กลุ่มนี้ก็ต้องเอายางไปทำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกไปยุโรปเช่นกัน ซึ่งยุโรปจะเรียกหาใบรับรองจากลูกค้าเราที่ไปขายให้เขา ซึ่งการจะไปทำใบรับรองแยกกองว่า กองนี้ EUDR กองนี้ไม่ใช่ EUDR จะยุ่งยากกว่า ดังนั้นทางเดียวคือ ทำ EUDR 100% ให้ครบ 4 ล้านตัน”

การทำ EUDR ไม่ต้องทำอะไรใหม่ เพียงแค่ชาวสวนต้องมีหลักฐานแสดงให้ได้ว่ามีจำนวนการปลูกกี่ไร่ พื้นที่ที่ปลูกตามพิกัดที่แจ้งมาจริง เราจะใช้ข้อมูลดาวเทียม มีการบินโดรนสำรวจ และมีแอปพลิเคชั่นของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ขึ้นทะเบียนไปก่อนแล้ว ซึ่งการดำเนินการนี้หลักร้อยล้านไม่ถึงพันล้านบาท เราวางแนวทางการทยอยทำต่อเนื่อง

ยาง EUDR ขายแพงขึ้น 3 บ.

“ตอนนี้ เรามีข้อมูล EUDR อยู่ในมือเรา 1 ล้านตัน และในปี 2567 ทำได้อีก 1 ล้าน รวมเป็น 2 ล้านตัน กำลังดูอยู่ว่าที่ยุโรปจะใช้เราทำ EUDR เพิ่มขึ้น มีต้นทุน เหมือนเป็นค่าพรีเมี่ยม ฉะนั้น ราคายางที่ผ่าน EUDR จะต้องบวกเพิ่มจากราคากลางไม่ต่ำกว่า 3.00-4.70 บาทต่อ กก. เราคิดจากราคาเนื้อยางแห้ง 100%”

ตอนนี้ลูกค้าทั้งมิชลิน บริดจสโตนมุ่งมาที่ประเทศไทย ซึ่งอันนี้เป็นจุดที่ไทยได้เปรียบ เพราะอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนามยังทำไม่ได้ เพราะติดกฎระเบียบประเทศของเขา ตอนนี้จึงมีเพียงไทยทำยาง EUDR ได้ บวกกับบางประเทศในแอฟริกา คือ ไอวอรีโคสต์ ซึ่งมีผลผลิตยางประมาณ 1.5 -2.0 ล้านตัน เราทำได้เท่าไรก็ขายหมดแน่อน

ผนึกจีนทำ “ปุ๋ย กยท.” ลดต้นทุน

และเราจะทำปุ๋ยการยางเอง ในแบรนด์การยาง จากที่ผ่านมาเราประมูล แต่ละครั้งได้ยี่ห้อต่าง ๆ กัน แต่ต่อไปทำเองหมดทั้งอินทรีย์และเคมี จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงไปไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อตัน

รูปแบบการลงทุน คือ 1.เราเช่าโรงงานทำเอง ไม่ต้องลงทุนเครื่องจักร เพราะโรงงานหนึ่งมีไลน์ผลิตหลายไลน์อาจจะให้เราเช่าเครื่องจักร หรือ 2.จ้างเขาทำโออีเอ็ม คือ ต้นทุนใครถูกเอาคนนั้น เช่น จ้างตันละ 400 บาทการผสมปุ๋ยใส่กระสอบ ถ้าเขาซื้อวัตถุดิบได้ถูกกว่า ก็ใช้ของเขา

“พันธมิตรเราก็กำลังดูอยู่ว่าจะไปดูที่จีน เพราะเป็นเจ้าใหญ่ของโลก รัฐบาลมีความร่วมมือกับจีนหลาย ๆ เรื่อง โครงการนี้ไม่ต้องศึกษา เพราะเป็นเรื่องปกติไม่ได้ทำอะไรพิเศษ เพียงแค่เปลี่ยนตราเขาเป็นตราเรา แต่เราสามารถเข้าไปคอนโทรลต้นทุนกับวัตถุดิบให้เป็นไปตามสเป็กที่เรากำหนด โครงการปุ๋ย กยท.จะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบ และถูกกว่าตลาดได้แน่นอน 2,000 บาทต่อตัน ซึ่งเดิมเข้าไปอยู่ในมือพ่อค้าคนกลาง แต่ตอนนี้จะตัดวงจรไป ส่วนความรับผิดชอบเปลี่ยนจากปลายทาง มาเป็นระบบใหม่ คือ ส่วนกลาง กรรมการบริหารที่ต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามสูตร ตามมาตรฐาน หากไม่เป็นคนอนุมัติคือพวกผมต้องรับผิดชอบ”

หลังจากประชุมบอร์ดนัดแรก แบ่งงานจะเสนอท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งคณะกรรมการเรื่องนี้ขึ้นมา 1 ชุด

“แผนตอนนี้จะเน้นทำปุ๋ยยางก่อน-หลังเปิดกรีด ทำสูตรตามภูมิภาคตามชุดดินที่มีค่าวิเคราะห์ เพื่อเราใช้เอง 1 แสนตันก่อน แต่ถ้าเราขยายไปตลาดในประเทศอีกหลักล้านตัน และอนาคตหากคนเชื่อมั่นก็อาจจะขยายไปพืชอื่น”

เป้าหมายยางปี 2567

“โครงการทั้งหมดนี้จะเป็นตัวอัพราคายางหมดเลย ผมบอกเลยว่าในยุคผมจะไม่มีการพูดถึงตัวเลขเป้าหมายราคายางเด็ดขาด เพราะผมเชื่อมั่นว่ายางจะไปถึงเท่าไรก็ได้ แต่ถ้าเราพูดตัวเลขจะเป็นการไปล็อกตัวเอง เช่น ถ้าเราพูด 60 ราคามันก็จะอยู่ที่ 50 กว่า เพราะจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่อยากให้ราคาขึ้น มีกองเชียร์กองแช่ง”

“สถานการณ์ตลาดโลกไม่ต้องไปห่วง ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเลวร้ายอย่างไร แต่ยางถูกใช้หมดทุกกิโลกรัมแน่นอน เพียงแต่ผลิตภัณฑ์ของเราตอนนี้ กำไรทั้งหมดจากปลายน้ำย้อนกลับมาหาชาวสวนตอนนี้สัดส่วนเพี้ยน เช่น ราคายางเส้นละ 1,000 บาท ควรอยู่ที่เราต้นน้ำ-กลางน้ำสัก 500 บาท แต่ตอนนี้อยู่ที่ 300 บาท ซึ่งการเข้าไปปรับเปลี่ยนสัดส่วนกำไรจาก 1% เป็น 3-5% ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน

การจะปรับเรื่องนี้เราต้องมีกระบวนการต่อรอง เราผลิตยาง 40% และทำ EUDR ถ้าเขาบอกว่าแพงแล้วจะไปซื้อที่อื่นทั้งโลก อย่างไรก็ขาด 40% หรือ 5 ล้านตัน คุณต้องมาซื้อเรา เราก็ต้องใช้สิ่งนี้มาต่อรองให้เป็นประโยชน์ โดยจะต้องยกระดับคุณภาพและชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด”

แก้ปัญหาภาษีที่ดินสวนยาง

เรื่องภาษีที่ดินสวนยางเท่าที่ทราบ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯทราบเรื่องและส่งไปติดต่อกระทรวงการคลังไปแล้ว และในข้อเท็จจริง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยเขียนชัดเจนว่าสวนยาง ต้องไม่ต่ำกว่า 2 ไร่ และต้องมีค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 25 ต้น/ไร่ ใครที่ไปกำหนด 80 ต้นได้อย่างไร เพราะ 80 ต้นไม่มีทางทำได้ ประเด็นควรจะแก้นี้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมาสร้างความเดือดร้อนให้คนในชาติ ผมยืนยันว่าชาวสวนจะไม่จ่าย รอดูพอถึงใกล้ ๆ เชื่อว่าจะมีกระบวนการแก้ไข ถ้าโดนเรียกเก็บคือ คนในครอบครัวที่โดน ซึ่งผมไม่มีทางยอม”