เปิดแผน พีระพันธุ์ รื้อ ลด ปลด สร้าง เดินหน้าพลังงานเป็นธรรม ปี 2567

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

พีระพันธุ์ นำทัพกระทรวงพลังงาน รื้อ ลด ปลด สร้าง วางเป้า ปี 67 ราคาพลังงานต้องมั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน

วันที่ 12 มกราคม 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานแถลงผลงานกระทรวงพลังงานปี 2566 และแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “ปีแห่งการขับเคลื่อนพลังงานไทย สู่อนาคตที่ดีกว่า”

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า การดำเนินการในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นช่วงคาบเกี่ยวของ 2 รัฐบาล คือ อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ทั้ง 2 รัฐบาลก็ได้มีการช่วยเหลือประชาชนโดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม รวมทั้งการกำชับการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนการผลิต

นอกจากนั้น ก็ได้มีการบริหารให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซในราคา Pool Gas (ราคาเฉลี่ยจากทุกแหล่งที่มา) ซึ่งสามารถลดค่าไฟสำหรับผู้ใช้ไฟในครัวเรือนที่ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย จ่าย 3.99 บาท และผู้ใช้ไฟตั้งแต่ 300 หน่วยขึ้นไป จ่าย 4.18 บาท

สำหรับการลดค่าไฟ คาดว่าในปีนี้น่าจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ (LNG spot) ลดลงจากปี 2566 ที่นำเข้าทั้งหมด 90 ลำเรือ เนื่องจากคาดว่าปริมาณก๊าซในอ่าวไทยแปลง G1/61 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567

ขณะที่การปรับปรุงค่าความพร้อมจ่ายที่ภาคเอกชนเรียกร้องจากปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูง กระทรวงพลังงานจะดูความต้องการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันใหม่ เนื่องจากช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ปรับเปลี่ยนจากเดิมในช่วงกลางวันเป็นช่วงกลางคืนแทน ซึ่งค่าพีกสูงสุดอยู่ที่ 34,827 เมกะวัตต์ เนื่องจากการใช้รถยนต์อีวีที่เพิ่มขึ้นถึง 77,471 คัน โดยร้อยละ 80 มีการชาร์จไฟฟ้าภายในบ้าน หากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1 แสนคัน คาดว่าพีกจะสูงขึ้นอีก รวมถึงการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมแล้วหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีความเสถียร ทำให้จำเป็นต้องพิจารณาว่า การสำรองไฟฟ้าในปัจจุบันจะเพียงพอหรือไม่

“สำหรับมาตรการรักษาราคาน้ำมันดีเซล มีการพูดคุยกับกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการยื่นเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า หากดูจากโครงสร้างราคาน้ำมันจะพบว่า มีส่วนภาษีหน้าโรงกลั่นหลายตัว ดังนั้นคงต้องใช้กลไกของภาครัฐเป็นหลักในการควบคุมราคาน้ำมันได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องประสานทุกกระทรวง โดยจะพยายามดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท

ส่วนมาตรการรักษาราคาน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อดูราคาขายปลีกในปัจจุบันราคาเบนซินปรับลดลงมาจาก 38 บาทต่อลิตร เหลือ 34 บาทต่อลิตร ยืนยันว่า หากไม่มีการลดภาษีสรรพสามิตจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อดูแลราคาเบนซินให้ประชาชนต่อเนื่อง”

ส่วนกรณีที่กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มราคาน้ำมันดีเซลขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงโรงกลั่นให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 กว่า 50,000 ล้านบาทนั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยระหว่างกระทรวงกับผู้ประกอบการ แต่ขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายขึ้นราคาน้ำมันอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ในปี 2567 ได้เตรียมนโยบายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะการ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ซึ่งจะมุ่งการแก้ไขระเบียบหรือกฎหมายที่ใช้มานาน ให้มีความเหมาะสม ทันสถานการณ์ โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นที่ตั้ง จะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ ให้ประชาชนใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และที่สำคัญ การดำเนินการจะวางรากฐานไว้ให้เกิดความยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย รวมทั้งประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานได้อย่างเท่าเทียม

“ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ผมจะทำงานตามนโยบายต่าง ๆ ที่ผมได้วางไว้ ซึ่งมาตรการไหนที่ทำได้ ผมก็จะทำทันที อย่างเช่น การลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ส่วนมาตรการไหนที่ต้องใช้เวลา อย่างการแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบต่าง ๆ ก็จะดำเนินการให้เร็วที่สุด อย่างปัจจุบันเตรียมยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับน้ำมันสำหรับเกษตรกรและกลุ่มประมงให้ได้ภายในสมัยประชุมสภาที่จะถึงนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ผมย้ำเสมอ จะเร่งดำเนินการในปีนี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้อย่างครอบคลุมทุกภาคส่วน” นายพีระพันธุ์กล่าว

ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะความผันผวนด้านพลังงานทั้งปัจจัยจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่มีความยืดเยื้อ รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด ล้วนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และค่าครองชีพประชาชน

กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการสำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านราคาพลังงานที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว ซึ่งในส่วนของการช่วยเหลือจากภาครัฐในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ปี 2566 ได้ใช้งบประมาณ 100,976 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งตรึงราคาค่าไฟฟ้า การตรึงราคาน้ำมันดีเซล และการลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม และ NGV

นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2566 มีการใช้เม็ดเงินลงทุนในภาคพลังงานไปแล้วกว่า 178,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนครอบคลุมทุกภาคส่วน

ส่วนแผนงานที่สำคัญของปี 2567 นายประเสริฐกล่าวเพิ่มเติมว่า ก็ยังคงมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เช่น การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอในราคาที่เป็นธรรม การส่งเสริมโซลาร์ภาคราชการและภาคประชาชน

ส่วนด้านโครงสร้างราคาพลังงาน ก็จะดำเนินตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยการศึกษาและปรับโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิดให้เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งการเปิดเสรีในกิจการพลังงานเพื่อให้เกิดการแข่งขัน

ส่วนด้านส่งเสริมพลังงานสะอาดก็จะส่งเสริมพลังงานชีวมวล ชีวภาพ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม ให้มากขึ้น พร้อมไปกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการลดการปล่อย CO2 เพื่อให้ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น ที่ผ่านมาก็ได้ร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงาน จะดำเนินการมาตรการลดฝุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหัวเมืองที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ