พาณิชย์ ไฟเขียวขึ้นราคานม UHT แล้ว ขวดเล็ก ขึ้น 0.25-0.50 บาท/กล่อง

นม

พาณิชย์ ไฟเขียวขึ้นราคานม UHT แล้ว ขวดเล็ก ขึ้น 25-50 สต. ไม่ถึง 70 สตางค์ที่เอกชนขอ ชี้ราคาขึ้นต่างกันตามส่วนผสม หลังจากนี้เปิดให้เอกชนแจ้งขอปรับ โดยดูจากการรับซื้อนมดิบ และสูตรผสม

วันที่ 16 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน ประชุมประกอบการผลิตภัณฑ์นม ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมตามต้นทุนที่แท้จริงจากน้ำนมดิบที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์นม UHT ขนาด 180-225 มิลลิลิตร ขึ้นราคา 0.25-0.50 บาท แต่ถ้าเป็นขนาดใหญ่กว่านั้นก็จะปรับขึ้นตามสัดส่วน เช่น ขวดลิตรอาจขึ้น 1-2 บาท เป็นต้น

ซึ่งเป็นไปตามติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) อนุมัติให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมกิโลกรัมละ 2.50 บาท จาก กิโลกรัมละ 20.25บาท เป็นกิโลกรัมละ 22.75 บาท โดยจะทำให้ราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์นมปรับขึ้นราคา แต่จะมีราคาขึ้นที่แตกต่างกันเป็นไปตามสัดส่วนของการใช้น้ำนมดิบ

“การพิจารณาปรับขึ้นราคาครั้งนี้ กรมได้พิจารณาเฉพาะในส่วนต้นทุนน้ำนมดิบที่ปรับสูงขึ้นเป็นหลัก โดยไม่รวมถึงต้นทุนค่าแรง ค่าไฟฟ้า หรือค่าบรรจุภัณฑ์ โดยไม่ได้อนุมัติให้ขึ้นราคาตามที่ภาคเอกชนเรียกร้องว่ามีต้นทุนการผลิตเพิ่ม 60-70 สตางค์ ซึ่งกรมพร้อมพิจารณาการขึ้นราคาอย่างเป็นธรรม ให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมถึงผู้ประกอบการ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมอยู่ได้ด้วย”

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ จะเปิดให้ผู้ประกอบการนม เข้ามายื่นปรับขอขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครยื่นเข้ามาอย่างเป็นทางการ โดยผู้ผลิตจะต้องแสดงให้เห็นถึงข้อมูลสำคัญใช้ประกอบการขอขึ้นราคา ได้แก่ เอกสารเกี่ยวกับการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร ในอัตราที่มีการปรับขึ้นใหม่แล้วที่กิโลกรัมละ 22.75 บาท และข้อมูลเกี่ยวกับสูตรการผลิต ที่มีสัดส่วนการใช้น้ำนมดิบในการผลิตสินค้านมกล่อง หรือนมขวดของประเภทนั้น ๆ ซึ่งยืนยันว่าราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์นม แต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อ จะปรับขึ้นไม่เท่ากัน เพราะแต่ละชนิดใช้น้ำนมดิบไม่เท่ากัน รวมถึงหากเป็นสต็อกการผลิตเก่าที่เป็นต้นทุนเดิมก็จะต้องขายตามราคาเดิมต่อไปด้วย

Advertisment

รายงานจากผู้ผลิตภัณฑ์นม แจ้งว่า การปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคานมสดและผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องกับต้นทุน โดยที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้กรมการค้าภายใน อนุมัติปรับขึ้นราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนน้ำนมดิบ และต้นทุนอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าไฟฟ้า และค่าแรงงาน เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ต้นทุนอื่น ๆ รวมต้นทุนน้ำนมดิบ อยู่ที่ ประมาณ 60-70 สตางค์ ต่อกล่องหรือขวด 200 มิลลิลิตร

“นมแต่ละชนิดจะมีสูตรและส่วนผสมน้ำนมดิบต่างกันทำให้ต้นทุนต่างกัน โดยที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแบกรับภาระมานานแล้ว ต้องการให้การพิจารณาปรับขึ้นราคา ควรคำนึงถึงต้นทุนทุกด้าน ไม่ใช่แค่น้ำนมดิบเพียงอย่างเดียว เหมือนการอนุมัติให้ปรับราคาปีที่แล้ว”

ยืนยันปรับราคานมเฉพาะส่วนต้นทุนสูงขึ้น

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 กรมการค้าภายใน ได้ประชุมร่วมกันสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย สมาคมอุตสาหกรรมนมและอาหาร บริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย โดยมีผู้แทนจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ฝ่ายเลขานุการของ Milk Board ร่วมประชุมด้วย

ในการประชุมบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายนมสดและผลิตภัณฑ์นมได้ขอให้กรมการค้าภายในพิจารณาปรับราคาจำหน่ายนมสดและผลิตภัณฑ์ตามมติ Milk Board และขอให้พิจารณาต้นทุนส่วนอื่น ๆ ที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งกรมได้รับทราบ และได้ชี้แจงถึงนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะลดภาระค่าครองชีพให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งในเรื่องนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ได้มอบนโยบายไว้โดยต้องมีความสมดุลทุกฝ่ายอยู่ได้

Advertisment

“กรมจะยังคงยึดหลักการเดิมที่จะปรับเพิ่มขึ้นเฉพาะในส่วนของต้นทุนน้ำนมโคดิบที่สูงขึ้นตามมติ Milk Board ซึ่งจะพิจารณาตามสัดส่วนการใช้น้ำนมดิบในแต่ละผลิตภัณฑ์และตามขนาดบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการรับทราบนโยบายและเข้าใจถึงสถานการณ์”

สำหรับการขอปรับราคา บริษัทผู้ผลิตจะต้องแสดงหลักฐานการรับซื้อน้ำนมโคดิบว่าได้ซื้อในราคาที่สอดคล้องกับประกาศของ Milk Board (ไม่ต่ำกว่า 22.75 บาท/กก.) และต้องยื่นข้อมูลสัดส่วนการใช้น้ำนมโคดิบด้วย เนื่องจากนมสดและผลิตภัณฑ์นมแต่ละยี่ห้อ แต่ละสูตร ก็อาจใช้น้ำนมโคดิบในสัดส่วนที่แตกต่างกัน การพิจารณาอนุญาตให้ก็จะพิจารณาให้ตามต้นทุนน้ำนมโคดิบที่สูงขึ้นจริง ซึ่งต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป