ดัชนี อุตฯ มี.ค. ยังพุ่ง แตะระดับ 90.7 ยอดขายรถ 2.37 แสนคันโตถึง 12.6%

ดัชนี อุตฯ มี.ค.ยังพุ่ง แตะระดับ 90.7 ยอดขายรถ 2.37 แสนคันโตถึง 12.6% “สุพันธ์” ยังห่วงสงครามการค้าสหรัฐฯ-ค่าบาท-ค่าแรงฉุด

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม จากการสำรวจผู้ประกอบการเดือน มี.ค.2561 ทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ความเขื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 90.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 89.9 จากเดือน ก.พ. เป็นผลมาจากการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยในข่วงเทศกาลสงกรานต์เดือน เม.ย. ที่มีวันหยุดมาก และยังเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ อาหาร ร้องเท้า และการพิมพ์

จึงคาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะอยู่ที่ระดับ 100.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 102.2 ในเดือน ก.พ. ด้วยความกังวลของผู้ประกอบการส่งออกต่อมาตรการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลถึงการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาสภาพคล่องของ SMEs รวมถึงปัญหาค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออก

“ภาพรวมในเดือน มี.ค.ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ความเชื่อดัชนี อุตฯ เป็นบวก ทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงระดับภูมิภาคทั้งหมด มีเพียงภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบเรื่องราคายางพารา และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้อัดที่มียอดสั่งซื้อลดลง เราจึงประเมินว่าความเชื่อมั่นในอีก3 เดือนจะลดด้วยวันหยุดช่วงสงกรานต์ และใกล้เปิดเทอม บวกกับราคาน้ำมันที่ผันผวน ขณะที่การค้ากับต่างประเทศต้องหาตลาดใหม่สำรองตลาดเดิม”

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐทาง ส.อ.ท. ต้องการให้ 1. แก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้กับผู้ประกอบการ SMEsเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ

2.สนับสนุนการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อขยายการค้าการลงทุน และป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

3.ส่งเสริมการฝึกอบรมแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงาน และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ

4.สนับสนุนการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการดำเนินธุรกิจผ่าน E-Commerce เพื่อเพิ่มช่องทางการค้า

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับยอดผลิตรถยนต์ปี 2561 ทั้งหมด 2,000,000 คัน ขายในประเทศตั้งเป้าไว้ที่ 900,000 คัน ส่งออก 1,100,000 คัน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งชิ้นส่วน รถจักรยานยนต์กว่า 1 ล้านล้านบาท

และยังพบว่ายอดขายรถกระบะเพิ่มขึ้นมีอัตราการเติบโตถึง 11% บวกกับจากงานมอเตอร์โชว์ที่ทำให้รถนั่งส่วนบุคคล (เก๋ง) ยอดขายจำนวนมาก และโครงการขนาดใหญ่จากทางภาครัฐที่หากสามารถเดินหน้าการก่อสร้างได้โอกาสที่รถยนต์ขนาดใหญ่จะโตตามไปด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะดันให้ยอดขายรถยนต์ปีนี้ถึงเป้า

สำหรับยอดการผลิต 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) จำนวน 539,690 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 11.15% ผลิตเพื่อส่งออก 300,717 คัน เพิ่มขึ้น 4.31% ผลิตเพื่อขายในประเทศ 238,973 คัน เพิ่มขึ้น 21.15% รถจักรยานยนต์ 695,618 คัน เพิ่มขึ้น 5% เป็นยอดขายรถยนต์ในประเทศ 237,093 คัน เพิ่มขึ้น 12.6% รถจักรยานยนต์ยอดขาย 465,093 คัน เพิ่มขึ้น 0.7% การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 295,230 คัน เพิ่มขึ้น 3.84% มีมูลค่าการส่งออก 153,214 ล้านบาท รถจักรยานยนต์ส่งออก 252,986 คัน ลดลง 0.06% มีมูลค่า 16,402 ล้านบาท