“สมศักดิ์” นำทีม สทนช. ลงพื้นที่ใต้ฝั่งอันดามันเร่งพัฒนาโครงข่ายน้ำ

สมศักดิ์ เทพสุทิน

“สมศักดิ์” นำทีม สทนช. ลงพื้นที่ตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา และสตูล) เร่งพัฒนาโครงข่ายด้านน้ำ เชื่อมโยงภาคีการพัฒนา หวังสร้างความเชื่อมั่น รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการด้านน้ำในอนาคต เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

วันที่ 22 มกราคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการด้านทรัพยากรน้ำที่สำคัญในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ณ จ.สงขลา สตูล กระบี่ และระนอง พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยช่วงเช้าเป็นประธานการประชุมการพัฒนาด่านการค้าชายแดนและนโยบายทวินซิตี้ ณ ด่านวังประจัน จ.สตูล และช่วงบ่าย ลงพื้นที่ชุมชนโต๊ะบาหลิว อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เพื่อพบปะและรับฟังปัญหาของชาวเลในพื้นที่ หลังจากนั้น เป็นประธานการประชุมเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านภาคใต้ ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกระบี่ ตามลำดับ ก่อนเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ จ.ระนอง ในวันพรุ่งนี้

ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย จ.ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา และสตูล ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อนและลักษณะภูมิประเทศมีความหลากหลายและสวยงาม อันประกอบไปด้วย ภูเขา แหล่งน้ำ หมู่เกาะ ทะเล และชายฝั่ง ทำให้เหมาะแก่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่มักประสบปัญหาด้านน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ

เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชันสูง น้ำทะเลหนุนสูงระบายน้ำได้ไม่ดี ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหลากบริเวณ อ.เมืองตรัง อ.นาโยง จ.ตรัง อ.ควนกาหลง อ.เมือง อ.ควนโดน อ.ละงู จ.สตูล รวมทั้งการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ในปัจจุบันมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต

ทั้งนี้ ในปี 2561-2565 ที่ผ่านมา สทนช.ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนงานและโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ซึ่งมีผลการดำเนินงานจำนวน 807 โครงการ ความจุ 8.12 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 64,017.66 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 102,130 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 16,500.25 ไร่ และเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะทาง 43,100 เมตร อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย จ.กระบี่, คลองผันน้ำพร้อมอาคารประกอบ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จ.ตรัง, ระบบระบายน้ำหลักพื้นที่ชุมชนทุ่งสง ระยะที่ 1 จ.นครศรีธรรมราช, สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านปลักมาลัย จ.สตูล และก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งคลองละงู หมู่ที่ 15 จ.สตูล เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนงานโครงการด้านทรัพยากรน้ำ ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามพระราชบัญญัติงบประมาณปี 66 จำนวน 57 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 12,875 ไร่ พื้นที่ได้รับการป้องกัน 8,144 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 29,033 ครัวเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 6.0832 ล้าน ลบ.ม. อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่, แก้มลิงบ้านท่ามะปราง ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง, สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำตำบลหัวไทร ต.เขาโร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย ต.นาตาล่วง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง เป็นต้น

ในส่วนงบฯบูรฯ ตาม พ.ร.บ. ปี’67 มีทั้งสิ้น 564 โครงการ เมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว สามารถเพิ่มความจุกักเก็บ 4.23 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 11,356 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 47,867 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 7,852 ไร่ และสามารถป้องกันตลิ่งได้ 36,817 เมตร อาทิ ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำอ่าวใหญ่ (พรด.) พร้อมส่วนประกอบอื่น ต.เกาะพยาม อ.เมืองระนอง, ขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำท่าเรืออเนกประสงค์ระนอง อ.เมืองระนอง, วางท่อเสริมศักยภาพการจ่ายน้ำ สถานีผลิตน้ำบางวาด อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต, เขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลอง “คลองพน” ต.คลองพน อ.คลองท่อม จ.กระบี่

และระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองตรัง รวมทั้งยังมีแผนงานโครงการสำคัญ จำนวน 6 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามาถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 180 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 21,231 ไร่ และ 44,150 ครัวเรือน และพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 29,000 ไร่ ได้แก่ ประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง จ.ตรัง, อ่างเก็บน้ำเขาพลู (พรด.) จ.ตรัง โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาพังงา-ภูเก็ต (ระยะที่ 1-2) จ.พังงา, อ่างเก็บน้ำลำรูใหญ่ จ.พังงา และคลองระบายน้ำ คลองละงู-คลองน้ำเค็ม จ.สตูล

“สำหรับกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีฐานทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก ดังนั้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับความต้องการใช้น้ำ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องศึกษาปริมาณความต้องการใช้น้ำอย่างรอบคอบ วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งการปรับปรุงคุณภาพน้ำ การเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำดิบและโครงข่ายด้านน้ำ เพื่อเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด อันจะรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป”