4 ปี “CEO อรรถพล” เปลี่ยนโฉม ปตท. อย่างไรให้กำไร 3 หมื่น กลายเป็นแสนล้านได้

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

4 ปี CEO อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เปลี่ยนโฉม ปตท.อย่างไรให้กำไร 3 หมื่น กลายเป็นแสนล้านได้

วันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาเราได้รู้จักนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ หรือพี่โด่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.ที่ก้าวขึ้นรับตำแหน่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ต่อจากนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ที่หมดวาระในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563

คณะกรรมการสรรหา ซึ่งมีนายดอน วสันตพฤกษ์ เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานหอการค้าไทย นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มีมติเป็นเอกฉันท์ 5 : 0 ในการเสนอชื่อนายอรรถพล ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ผู้สมัคร

นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ

นอกจากบทบาทใน ปตท. “พี่โด่ง” อดีตนิสิตจุฬาฯ รุ่น CU2527 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา และระดับปริญญาโทเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ UK Diploma of Petroleum Management, College of Petroleum Studies, Oxford University

ซึ่งปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) ประจำปี 2566-2568 นับเป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ คนที่ 33 ด้วย

วิสัยทัศน์ PTT by PTT

เมื่อปี 2563 เขาฉายภาพการใช้กลยุทธ์ PTT by PTT ซึ่งมาจาก P : partnership and platform, T : technology for all และ T : transparency and sustainability ในการทำงานเพื่อต่อยอด พัฒนา และขยายเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูง ตามทิศทางโลก 6 ด้านคือ

1.New Energy ธุรกิจด้านพลังงานใหม่

2.Life Sciences ธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์

3.Mobility & Lifestyle ธุรกิจที่เกี่ยวกับความคล่องตัวและไลฟ์สไตล์ เริ่มจากสถานีน้ำมัน จะต้องไม่ใช่สถานที่ที่เติมน้ำมันอีกต่อไปเพียงอย่างเดียว

4.High Value Business การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้สามารถสร้างมูลค่าสูง

5.Logistics โลจิสติกส์ สร้างธุรกิจใหม่ของปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ให้ความสำคัญกับธุรกิจแพลตฟอร์ม e-Commerce มากยิ่งขึ้น จากธุรกิจแบบ Business-to-Business (B2B) ต่อยอดธุรกิจ Business-to-Customer (B2C)

และสุดท้าย 6.AI & Robotics การพัฒนาธุรกิจด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมถึงระบบอัตโนมัติ

จนถึงวันนี้เป็นเวลา 4 ปี สามารถพิสูจน์ได้ว่าซีอีโอคนที่ 10 เดินหน้าตาม 6 แนวทางนโยบายที่วางไว้แล้วในทุกประเภทธุรกิจ และที่สำคัญยังสามารถสร้างการเติบโตให้กับ ปตท. และสามารถเพิ่มกำไรสุทธิ ปตท. จากปี 2563 อยู่ที่ 37,766 ล้าน เป็น 108,363 ล้านบาท ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 70,597 ล้านบาท หรือมากกว่า 100% จากในปี 2563

และแม้จะติดช่วงสถานการณ์โควิด ยอดใช้น้ำมันทั่วโลกลดลง แต่ยังรักษาระดับการทำกำไรสุทธิไว้ได้ ล่าสุด ปี 2565 ถึง 91,175 ล้าน ทั้งยังเป็นบริษัทที่เข้ามาช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ กิจกรรมด้วย

ปตท.กำเงิน 4.3 พันล้านคืนชอร์ตฟอล

ส่วนเรื่องที่ยังต้องดำเนินการต่อคือ การจ่ายเงินกรณีการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย กรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (ชอร์ตฟอล)

ซึ่งเดิมทีเดียว ปตท.ไม่เห็นพ้องกับคำสั่ง กกพ.ที่ 44/2566 ที่ยกอุทธรณ์ ทำให้ ปตท.ต้องนำมูลค่าก๊าซที่มีการปรับลดลงจากผู้ผลิตประมาณ 4,300 ล้านบาทมาจ่ายเป็นส่วนค่าไฟฟ้า

แต่ล่าสุด บอร์ด ปตท.ได้มีมติอนุมัติให้ ปตท.ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ กกพ. ในการจ่าย 4,300 ล้านแล้ว

นายอรรถพลกล่าวว่า ปตท.พร้อมดำเนินการคืนเงินชอร์ตฟอล 4,300 ล้านบาท หรือเงินที่ผู้ขายผิดสัญญาไม่สามารถส่งก๊าซให้ผู้ซื้อได้ตามกำหนดให้ส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยช่วงปลายปี 2564 มาจนถึงต้นปี 2565

โดย ปตท.จะดำเนินการชำระเงินดังกล่าวในงวดเป็นเงินงวดเดียวในเดือน ม.ค.นี้ ส่วนจะมีการฟ้องร้องสั่งของ กกพ.หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องในอนาคตที่อาจจะพิจารณาต่อไป

หากมองผลลัพธ์จากการจ่าย ปตท.จะไม่กระทบมาก เพราะยังมีรายได้จากส่วนอื่นที่จะเข้ามาเสริมในอัตราใกล้เคียงกัน นั่นคือการขายหุ้นบริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo) บริษัทลูกของ Lotus Pharmaceutical ที่บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (อินโนบิก) (บริษัทย่อยที่ ปตท.เข้าไปลงทุน)

ปรับโครงสร้างราคาก๊าซ

กรณีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ส่งผลให้ต้นทุนของโรงแยกก๊าซเปลี่ยนแปลงจากก๊าซในอ่าวไทยเป็นต้นทุนถัวเฉลี่ยก๊าซจากทุกแหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย พม่า และก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) (“Pool Gas”) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจโรงแยกก๊าซที่จะปรับสูงขึ้น ยกเว้นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ

โดยมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะสั้น จนกว่าจะมีการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซอย่างเป็นทางการ โดย กกพ.แล้วเสร็จนั้น ปตท.ประเมินว่าผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเบื้องต้น จะสะท้อนผ่านผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจก๊าซของ ปตท.ปรับตัวลดลงประมาณ 6,500 ล้านบาท ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567

“การปรับโครงสร้างราคาก๊าซจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษารูปแบบ Pool Gas ที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต แต่จากผลกระทบที่ประเมินออกมาในระยะสั้นนั้น อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้ เพราะราคา LNG นำเข้าเป็นช่วงที่ราคาไม่ได้สูงขึ้นมากนัก ก็อาจช่วยให้ภาระส่วนต่างราคาลดลงได้บ้าง”

เชียร์รัฐแก้ปัญหา OCA

ส่วนประเด็นที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เตรียมหารือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (OCA) กับนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีกำหนดการจะเดินทางมาเยือนไทย ในวันที่ 7 ก.พ. 2567 นั้น กระบวนการส่วนนี้เป็นการดำเนินงานของภาครัฐ ปตท.คงไม่ได้ร่วมเจรจา

ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า หากรัฐบาลประสบความสำเร็จในการเจรจา จะนำมาซึ่งปิโตรเลียม โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับทั้ง 2 ประเทศ และส่งผลดีต่อธุรกิจนั้น มองว่าการหาแหล่งพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศนับเป็นเรื่องสำคัญ แต่การดำเนินการเรื่องใหญ่ ๆ ย่อมจะมีผู้คัดค้าน หรือแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่สำคัญคือการมองถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก หากจะค้านเพียงอย่างเดียวก็จะทำให้ประเทศไม่มีเหลือทางออกอะไรเลย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้กระบวนการเจรจาจบได้ในรัฐบาลชุดนี้

แนวโน้มผลสรุปธุรกิจ ปตท. ปี 2566

แนวโน้มผลการดำเนินงานของ ปตท. ในปี 2566 ยังคงเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในกลุ่ม ปตท. ที่เดิมตั้งเป้าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 แต่ปัจจุบันดำเนินการได้เร็วกว่าเป้าหมาย มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่กว่า 4,000 เมกะวัตต์แล้ว ดังนั้น กลุ่ม ปตท.จึงได้ปรับเป้าหมายใหม่เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแตะ 15,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573