ปลุกอุตสาหกรรมตื่น พิมพ์ภัทราชู “ฮาลาล” ปั๊มเศรษฐกิจ

ปลุกอุตสาหกรรม

การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมนับว่าเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ซึ่งในงานสัมมนา Thailand 2024 : The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ในหัวข้อ “เปิดโฉมอุตสาหกรรม-การทูตยุคใหม่ ในมุมมอง รมต. New Gen” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แม่ทัพกระทรวงอุตสาหกรรม “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” ฉายภาพนโยบายว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีบทบาทส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ จากเดิมที่เป็นเสือหลับได้ปลุกให้ตื่น ด้วยการส่งเสริมทั้งผู้ประกอบการในและต่างประเทศ รวมถึงอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคให้ได้ ด้วยไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีหน้าที่ดึงนักลงทุนเข้ามา และยังต้องรักษารายเก่าในประเทศไว้ด้วย อย่างผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องอยู่ให้ได้ด้วยมีกติกาการแข่งขันใหม่ที่เป็นตัวกีดกันทางการค้ารายใหญ่ ไม่น่าห่วงเพราะมีทั้งทรัพย์และความรู้

ห่วงอุตสาหกรรมที่ไม่รู้ตัว

เรื่องที่ห่วงคือ SMEs บางรายรู้ตัวบางรายยังไม่รู้ตัว และด้วยเทรนด์บริโภคที่เปลี่ยนไป จากรถยนต์สันดาปที่ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โจทย์คือ จะรักษาอุตสาหกรรมที่ยังเป็นรถสันดาปไว้ให้ได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นมันสมองที่ทำหน้าที่ในเรื่องของการรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการ การประเมินทิศทางของอุตสาหกรรม

ดังนั้นจึงต้องมีการเตือนและส่งสัญญาณให้กับผู้ประกอบการรู้ มีกี่รายที่กำลังได้รับผลกระทบ ด้วยการปรับตัวไม่ใช่การเปลี่ยน เพราะการเปลี่ยนคือการต้องลงทุนใหม่ โดยจะใช้เครื่องมือของ SME Bank สินเชื่อเข้ามาช่วย เช่น จากเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ปรับมาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนการแพทย์ได้หรือไม่ เป็นต้น

ขณะที่อุตสาหกรรมเดิมที่กำลังมีปัญหาและต้องปรับตัวโดยเร็วคือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งส่วนนี้มีทางออกคือ การดึงเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์เข้ามาช่วย เป็นอีกหนทางการปรับตัว และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายเล็กอย่างมาก และอุตสาหกรรมเหล็กที่โดนการแข่งขันจากการนำเข้ามาจากต่างประเทศที่ต้องปรับตัว

ชูอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำหรับอุตสาหกรรมไทยที่ต้องผลักดัน ยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยเฉพาะ EV ที่รัฐมีมาตรการสนับสนุนมาตั้งแต่ EV 3.0 และล่าสุดคือ EV 3.5 นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุด ที่ดึงนักลงทุนเข้ามาทั้งการตั้งฐานการผลิตที่ไทย

ยังรวมไปถึงการลงทุนในส่วนของแบตเตอรี่ การจัดการเรื่องของซากแบตเตอรี่ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและผลักดันให้เกิด เช่น การนำไปรีไซเคิลที่ไหน หรือนำกลับมาทำอะไรในอุตสาหกรรมใดได้บ้าง จากเรื่องนี้จะนำไปสู่การตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular

“การค้นพบแร่ลิเทียมในจ.พังงา หลังจากนี้อยู่ในกระบวนการขอประทานบัตร หรือการรับฟังความคิดเห็นซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ที่สำคัญที่สุด คือ การพบลิเทียมสร้างความเชื่อมั่นกับประเทศไทยว่าอย่างน้อย นักลงทุนต่างประเทศจะได้รู้ว่าเรามีแร่สำคัญคือ ลิเทียมที่จะเป็นวัตถุดิบในการใช้ทำแบตเตอรี่ ซึ่งจะเป็นสิ่งยืนยันว่าเราไม่เพียงมีพื้นที่พร้อม โครงสร้างพื้นฐานพร้อม แต่ยังมีวัตถุดิบสำคัญในการเริ่มกระบวนการของยานยนต์ไฟฟ้า”

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ยังเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยมีโอกาสอย่างมาก เนื่องจากไทยสามารถผลิตและส่งออกยุทโธปกรณ์ อย่างรถถัง เรือรบ ปืน กระสุน ไปต่างประเทศได้ แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สรรพสามิต สรรพากร กลาโหม แต่ยังมีอุปสรรคบางเรื่อง เช่น การนำเข้าเรือรบทั้งลำ กับนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบ มีภาษีที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าการนำเข้ามาแบบชิ้นส่วนไม่สามารถสู้ได้ ซึ่งจะทำอย่างไรที่จะช่วยกันและร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้ได้โอกาสที่เพิ่มขึ้น

ปั๊มยอดสินค้าฮาลาล

นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าวว่า ไทยยังใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องของการค้าเสรี FTA เพื่อเดินหน้าอุตสาหกรรมฮาลาล หรือตั้งกรมฮาลาลขึ้นมา โดยขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศซาอุดีอาระเบีย เข้ามาช่วยเรื่องการรับรองมาตรฐานฮาลาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตราสินค้าที่ไทยจะส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังประเทศคู่ค้า เพราะจากข้อมูลพบว่ามูลค่าตลาดของฮาลาลสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยผลิตและส่งออกไปเพียง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 2.7% เท่านั้น

เมื่อโอกาสมีมากและไทยมีความพร้อมทั้งวัตถุดิบและตลาด การดึงเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเริ่มต้นด้วยการให้สถาบันอาหาร เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น สเต็ปถัดไปคือ การตั้งกรมฮาลาลที่จะเสนอเข้า ครม.ต่อไปในอนาคต แน่นอนว่าการลุยตลาดฮาลาลเพียงเริ่มต้นที่ส่งออกไปจีนอย่างอาหาร เครื่องสำอาง เมล็ดพันธุ์พืช ก็สามารถผลักดันให้ตลาดนี้โตได้ 1-2 เท่าภายใน 1-2 ปีได้ไม่ยาก

“หน้าที่ของเราไม่แค่ส่งเสริมและสนับสนุน แต่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนด้วย ตอนนี้นักลงทุนถามหาเรื่องพลังงานสะอาด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เริ่มคุยและทำเรื่อง Green Energy Green Industrial Green Productivity และเพื่อให้ผู้ประกอบการมีวัคซีนสู้กับมาตรการกีดกันทางการค้า กติกาใหม่ของโลก ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้ผู้ประกอบการ อย่างกติกาคาร์บอน ปัญหาตอนนี้รายย่อยยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องคาร์บอนฟรุตพรินต์ นี่คือความท้าทายของอุตสาหกรรมที่ต้องช่วย SMEs ให้อยู่ได้”