กรมฮาลาล มาแน่ แล้วไทยได้อะไร

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

ใกล้เคาะตั้ง “กรมฮาลาล” ส่องสินค้าพร้อมส่งออกไปจีน ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกา ดึงทั้งสถาบันอาหาร สถาบันมาตรฐานซาอุดีอาระเบีย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมร่วมกัน เร่งสร้างมาตรฐานให้ความมั่นใจชาวมุสลิม สินค้าต้องตรงเกณฑ์ตามหลักศาสานาอิสลาม ขณะที่ไทยขยายตลาดจากศักยภาพที่มี เป้า 55,000 ล้านบาท ไม่ยาก

“ฮาลาล” อาหารหรือผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามให้ชาวมุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้ สำหรับประเทศไทยแล้วซึ่งทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคล้วนเป็นชาวพุทธ ความเข้มงวดและเกณฑ์ต่าง ๆ ในการผลิตสินค้าขึ้นมาให้กับชาวมุสลิม ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก แต่ก็คงไม่ยากที่ไทยเองจะโดดเข้ามาเป็นผู้เล่น เพื่อหวังเพิ่มสัดส่วนให้ได้มากกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบันมูลค่าตลาดฮาลาลสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยผลิตและส่งออกไปเพียง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 2.7% เท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2566 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามานั่งในตำแหน่งว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องตั้ง “กรมฮาลาล” ขึ้นอย่างแน่นอน ด้วยตลาดที่มีศักภาพของผู้ผลิต ความร่วมมือจากประเทศคู่ค้า ต่างเป็นตัวสนับสนุนให้ตลาดฮาลาลมีโอกาสที่เติบโตได้มากกว่าที่ควรจะเป็น

แล้วสินค้าอะไรที่เป็นเป้าหมายหลัก ในระยะแรกจะเริ่มด้วยเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ในรูปแบบของอาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ หรือ Snack Bar เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร หรือแม้แต่การท่องเที่ยว

คนไทยได้อะไร แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่การผลิตไว้ใช้ ขายในประเทศเท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม อย่างซาอุดีอาระเบีย รวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่น จีน และแอฟริกา ดังนั้นแล้วหากสามารถดำเนินงานได้ตามแผนภายในระยะ 3 ปี จะสามารถทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมฮาลาลขยายตัว 55,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.2% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม แน่นอนว่าการลุยตลาดฮาลาล หากเริ่มต้นส่งออกไปจีนเพียงแค่อาหาร เครื่องสำอาง เมล็ดพันธุ์พืช ก็สามารถผลักดันให้ตลาดฮาลาลนี้โตได้ 1-2 เท่า ภายใน 1-2 ปีได้ไม่ยาก

เรื่องดังกล่าวดำเนินการมาถึงครึ่งทาง ด้วยการดึงองค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพ แห่งซาอุดีอาระเบีย (The Saudi Standards Metrology and Quality Organization : SASO) เข้ามาทำแผนงานความร่วมมือ และลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อทำหน้าที่ รับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย เป็นการยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน นี่จะเป็นการปิดช่องโหว่ที่เคยเป็นอุปสรรคมาโดยตลอด

โจทย์ใหญ่ที่สำคัญในตอนนี้ดูเหมือนจะยาก คือ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม ดังนั้นเรื่องของมาตรฐานสินค้าที่ต้องผลิตออกมาเพื่อให้คนมุสลิมบริโภค เนื่องจากคนมุสลิมจะมีข้อจำกัด เช่น อาหารที่ออกมาผู้ประกอบอาหารจะต้องเป็นมุสลิม วัตถุดิบจะต้องเป็นถูกเลี้ยงโดยคนมุสลิม โดยไม่มีการปนเปื้อน ซึ่งจากข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างที่เข้มงวด จึงทำให้สินค้าฮาลาลยังไม่ใหญ่มากนัก

ส่วนข้อปฏิบัติที่ต้องทำอย่างถูกต้องตามกฎของศาสนาอิสลาม ทั้งทางด้านแหล่งที่มาของอาหาร วิธีการฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม สัตว์ที่จะเชือดนั้นต้องเป็นสัตว์ที่รับประทานได้ตามหลักศาสนาอิสลาม ต้องไม่ทารุณสัตว์ก่อนการเชือด เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการไม่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับของต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการผลิต หรือปรุงผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ต้องเป็นมุสลิม เป็นต้น

ซึ่งยังรวมไปถึงการเตรียมอาหาร การแปรรูปอาหาร การบรรจุหีบห่อ การขนส่งและการเก็บรักษาอาหาร อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการค้ากับประเทศมุสลิมที่กำหนดมาตรการนำเข้าอาหารฮาลาล ทั้งหมดนี้เข้มงวดมากแต่ความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ จะทำให้ตลาดนี้แข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับในอนาคต

“กรมฮาลาล” ที่เตรียมเสนอเข้า ครม. เร็ว ๆ นี้ โดยการผลักดันของ “นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขออนุมัติตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ด้วยการให้สถาบันอาหาร เป็นหน่วยงานหลัก ภายใต้งบประมาณสนับสนุน 630 ล้านบาท เพื่อใช้ในภารกิจส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ