ราคาน้ำมันดิบ (5 ก.พ. 67) ปรับลดจากคาดการณ์สหรัฐไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้

ราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบปรับลดจากคาดการณ์สหรัฐไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้ ส่งผลอุปสงค์ชะลอตัว

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบดังนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้น 353,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. 67 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่ง

โดยนักวิเคราะห์คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป จากที่คาดว่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ย มี.ค. 67 นี้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูง จะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมสำหรับภาคธุรกิจและผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และกดดันให้อุปสงค์น้ำมันลดลง

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 2 ก.พ. 2567 อยู่ที่ 72.28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -1.54 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 77.33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -1.37 เหรียญสหรัฐ

ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์ปรับเพิ่มขึ้น 0.67% แตะระดับ 103.73 ส่งผลให้ความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดน้ำมันลดลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น

ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนจะชะลอตัวลงเหลือ 4.6% ในปี’67 และลดลงอีกในระยะกลางเป็นประมาณ 3.5% ในปี’71

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 254.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ลดลงของจีน เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นช่วงเทศกาลตรุษจีน

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากการปรับเพิ่มขึ้นของน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ 2.28% สู่ระดับ 7.09 ล้านบาร์เรล แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และอุปทานน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้นจากการส่งออกของอินเดีย