‘เนสท์เล่-ไทยยูเนียน’ ผนึก NIA-มหิดล ขับเคลื่อน SPACE-F หนุนนวัตกรรมฟู้ดเทค

'เนสท์เล่-ไทยยูเนียน' ผนึก NIA

บิ๊กธุรกิจ ‘เนสท์เล่-ไทยยูเนียน’ ผนึก NIA-มหิดล ขับเคลื่อนโครงการ SPACE-F หนุนนวัตกรรมฟู้ดเทคและสตาร์ตอัพ

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 นายวิคเตอร์ เซียห์ (ซ้าย) ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ (ที่ 2 จากซ้าย) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และนายธีรพงศ์ จันศิริ (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกโครงการแรกของไทย

โดยพิธีลงนามความร่วมมือจัดขึ้นด้วยแนวคิด Collaboration for the Future of Food สะท้อนถึงปณิธานของกลุ่มพันธมิตรในการร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้พร้อมเดินหน้าสู่อนาคต และร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร พร้อมสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมอาหารที่พร้อมตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติร่วมในงาน

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ อว. คือการยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานคุณค่า ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ

'เนสท์เล่-ไทยยูเนียน' ผนึก NIA

โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกในปี 2566 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีสถานประกอบการกว่า 1.36 แสนราย และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 9.73 แสนตำแหน่ง

โครงการ SPACE-F จึงเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของ อว. ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ให้สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งและนำนวัตกรรมมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมช่วยขับเคลื่อน ประเทศไทยสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม” และก้าวสู่อันดับที่ 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้”

ดร.กริชผกากล่าวว่า NIA มีเป้าหมายในการยกระดับระบบนวัตกรรมของประเทศ โดยอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญที่ NIA มุ่งขับเคลื่อน จากผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศสตาร์ตอัพ (Global Startup Ecosystem Index)

โดย StartupBlink พบว่าระบบนิเวศสตาร์ตอัพของไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 52 ของโลก อันดับที่ 11 ของเอเชีย-แปซิฟิก และอันดับที่ 4 ของอาเซียน กรุงเทพฯ มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด โดยขยับขึ้นมา 25 อันดับ สู่อันดับที่ 74 ของโลก อันดับที่ 3 ในอาเซียนในฐานะหนึ่งในเมืองชั้นนำด้านระบบนิเวศของสตาร์ตอัพ”

“โครงการ SPACE-F จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตโปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอัจฉริยะ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน รวมถึงบริการอัจฉริยะด้านอาหาร ทำให้สตาร์ตอัพสามารถเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับสากลได้และที่สำคัญในปีนี้ เนสท์เล่ได้เข้าเป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ที่จะนำความเชี่ยวชาญขององค์กรมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อโครงการ และเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพ ทั้งในไทยและจากต่างประเทศทั่วโลก สามารถมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของนวัตกรรมอาหารในอนาคต”

นายวิคเตอร์กล่าวว่า เนสท์เล่มีเจตนารมณ์ในการเปิดพลังแห่งอาหาร เพื่อเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อทุกคนในวันนี้ และในอนาคต เราจึงมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะส่งเสริมเจตนารมณ์ของบริษัทที่วางไว้

“เราเชื่อว่าการทำงานร่วมมือกับหลาย ๆ ภาคส่วนในโครงการ SPACE-F จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยสู่อนาคต ด้วยการสร้างสรรค์อาหารที่ทั้งดีต่อผู้บริโภค และดีต่อโลกของเรา สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท เราจะทำงานร่วมกันกับพันธมิตรและผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติอร่อยขึ้นและดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารและประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืนในปัจจุบันและในอนาคต”

'เนสท์เล่-ไทยยูเนียน' ผนึก NIA

ทั้งนี้ เนสท์เล่มีเครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนา 25 แห่ง และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ 10 แห่งทั่วโลก และได้จัดสรรงบลงทุนกว่า 1,700 ล้านสวิสฟรังก์ (หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท) ในแต่ละปี เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนในทุกช่วงวัย สตาร์ตอัพจากโครงการ SPACE-F จะช่วยเสริมจุดแข็งของบริษัท และช่วยให้เนสท์เล่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นายธีรพงศ์กล่าวว่า ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อนาคตของธุรกิจอาหารจะถูกพลิกโฉมโดยการนำนวัตกรรมและการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งของผู้ประกอบการทั่วโลกมาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารให้ก้าวหน้า

ที่ไทยยูเนี่ยนเรารู้ดีว่าก่อนที่จะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ย่อมเต็มไปด้วยความท้าทาย

ดังนั้น การริเริ่มโครงการ SPACE-F จึงเป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นและตั้งใจในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร เพื่อช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมารองรับกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตที่อุตสาหกรรมต้องเผชิญ เพื่อก้าวไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ตามแนวทางของไทยยูเนี่ยนที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เราจึงเตรียมระบบนิเวศและความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นทางลัดที่จะช่วยให้สตาร์ตอัพเติบโตและประสบผลสำเร็จ นอกจากนั้น จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

สำหรับความร่วมมือกับเนสท์เล่ในครั้งนี้ไม่ใช่แค่ความร่วมมือทางธุรกิจ แต่จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันของทั้ง 2 บริษัทในการสนับสนุนสตาร์ตอัพ ด้านเทคโนโลยีอาหารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ รวมถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมผลักดันให้เกิดมาตรฐานใหม่

ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจงกล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีพันธกิจขององค์กรที่จะเป็นผู้นำทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมหาวิทยาลัยมหิดลจึงมุ่งสนับสนุนการพัฒนานักศึกษาและอาจารย์ให้สามารถสร้างสรรค์แนวคิด วิธีการ สิ่งประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมไปถึงการนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเพื่อการต่อยอดและนำออกสู่เชิงพาณิชย์

ด้วยเพราะมหาวิทยาลัยมหิดลมีความพร้อมในด้านการศึกษาเชิงวิชาการ องค์ความรู้ สิ่งอำนวยความสะดวกในด้านอุปกรณ์และเครื่องมือทางงานวิจัยต่าง ๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ วิทยาศาสตร์การอาหาร โภชนาการ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จึงมีความพร้อมเพื่อรองรับและช่วยส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการด้านอาหาร/สตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F ที่มุ่งเน้นสู่การพัฒนาประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารและนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตของเอเชีย

สำหรับโครงการ SPACE-F เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 โดยมีสตาร์ตอัพทั้งในประเทศและทั่วโลกเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 60 ราย และปัจจุบันได้ระดมเงินทุนไปแล้วมากกว่า 63 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการ SPACE-F เตรียมเปิดรับสมัครรุ่นที่ 5 ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2567 ในโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีอาหารให้เติบโตและพัฒนาโมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีอาหารที่สำคัญแห่งภูมิภาคได้ต่อไป