อธิบดีกรมประมงตอบชัด เบรกนำเข้าสัตว์น้ำไม่ได้ แก้ปัญหาราคาตกไม่ได้ เพราะอะไร

นายบัญชา สุขแก้ว
นายบัญชา สุขแก้ว

อธิบดีกรมประมง ตอบชัด เหตุผลที่ห้ามนำเข้าสัตว์น้ำไม่ได้ เสี่ยงผิด WTO เตรียมถกข้อสรุป มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้า 19 ก.พ. 67  

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากกรณีชาวประมงขอให้ภาครัฐพิจารณาแนวทางหรือมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำ เนื่องจากมีการนำเข้าสัตว์น้ำมาจำหน่ายในประเทศ โดยมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ดังนี้

1.ขอให้หยุดการนำเข้าสัตว์น้ำ

2.ขอให้กำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถนำเข้ามาในประเทศได้ ให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตและความต้องการในประเทศ

3.ขอให้กำหนดมาตรฐานสัตว์น้ำ ที่จะนำเข้ามาให้เป็นมาตรฐานเดียวกับชาวประมงในประเทศ (IUU)

4.ขอให้มีความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า

5.กำหนดอัตราจัดเก็บภาษีนำเข้าสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ล่าสุดนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 1/2567 โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ว่า กรมประมงรับทราบถึงปัญหาดังกล่าว และได้กำหนดแนวทางการดำเนินการ รวมถึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

โดยหลังจากที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อแก้ปัญหาราคาตก และมอบหมายให้กรมประมงไปพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยจะมีการจัดการประชุมขึ้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อหาข้อยุติและจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปทันที

เปิดเหตุผล เบรกนำเข้าไม่ได้

“มาตรการที่เสนอให้หยุดนำเข้าสัตว์น้ำและกำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถนำเข้ามาในประเทศ อาจขัดกับหลักการค้าระหว่างประเทศขององค์การการค้่โลก (WTO) ที่ตัดให้สินค้าประมงให้จัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ใช่สินค้าเกษตร ทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการป้องกันพิเศษ (Special Safeguards : SSG) ได้”

แต่อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้ดำเนินการในด้านอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับมาตรการของ WTO ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ทั้งในเรื่องของมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อกำหนดมาตรฐานด้านสุขอนามัยสัตว์น้ำที่จะนำเข้า มีการกำหนดมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าสัตว์น้ำ มีการสุ่มตรวจสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อวิเคราะห์สารตกค้าง โลหะหนัก และสารปนเปื้อนต่าง ๆ ในสินค้าสัตว์น้ำ

รวมถึงการสุ่มตรวจโรคที่ถูกระบุว่ามีความเสี่ยง เช่น การยกระดับการเปิดตรวจจากเดิม 30% เป็น 100% สุ่มเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์สารตกค้างเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 2 เป็น ร้อยละ 10 หากพบว่ามีสารตกค้างในสินค้าประมงก็จะดำเนินการอายัดสินค้าและส่งให้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจสอบ พร้อมดำเนินการเปรียบเทียบปรับและยึดใบอนุญาตนำเข้า

เดินหน้าคุมเข้ม IUU

ในส่วนของสินค้าสัตว์น้ำที่จับจากทะเล จะมีมาตรการป้องกันการนำเข้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มาจากการทำการประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU) ที่กำหนดให้ผู้นำเข้าจะต้องแสดงหนังสือรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำที่นำเข้ามานั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย และสามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้

อีกทั้งในขณะนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังและตรวจป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย รวมถึงตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำและต้องให้แจ้งปลายทางของสัตว์น้ำที่นำเข้ามาในประเทศให้ชัดเจน

ซึ่งจะส่งผลให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้กำหนดแนวทางการประเมินคุณภาพสินค้า แหล่งที่มา และมาตรฐานแหล่งผลิตที่ประเทศต้นทางในลักษณะเดียวกับ General Administration of Customs of the People’s Republic China (GACC) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะนำร่องจากชนิดสัตว์น้ำที่มีการนำเข้าปริมาณมากซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่ชาวประมงในประเทศไทยจับได้