พาณิชย์ MOU 3 หน่วยงานใต้ ดึงผู้ค้ารายใหญ่จับคู่เลือกสินค้าเด่นขายนักท่องเที่ยว

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดพิธีลงนาม MOU ร่วมกับ 3 หน่วยงาน วาง 3 แนวทางสร้างธุรกิจ พร้อมเปิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจร่วมกับนักธุรกิจรายใหญ่ของไทย มั่นใจหลังจบกิจกรรมสร้างยอดขายให้กลุ่มสตรีฯได้ทันที

วันที่ 1 มีนาคม 2567 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) และกิจกรรมการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จังหวัดปัตตานี โดยนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก โดยในพื้นที่มีการรวมกลุ่ม ซึ่งถือเป็นเครือข่ายทางธุรกิจกันอยู่แล้ว ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงและพัฒนา

เปิด 3 แนวทางพัฒนา

แนวทางพัฒนากลุ่มสตรีฯนั้นประกอบไปด้วย 3 ด้าน คือ

1) ปั้นธุรกิจให้แข็งแรง สร้างความรู้ด้านการตลาด ตั้งแต่เริ่มต้นวิธีก่อร่างสร้างธุรกิจของ SMEs, ทำอย่างไรให้สินค้า/บริการเข้าไปสู่ตลาดออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้างไม่รู้จบ

รวมถึงการบริหารระบบหลังบ้านให้เป็นมืออาชีพคือสิ่งที่ SMEs ยังมีข้อจำกัด กรมจะเชิญผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้ด้านบริหารและการจัดการบัญชีให้มีมาตรฐานด้วย ประกอบกับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยการพัฒนารูปแบบ Packaging ให้ดึงดูดน่าสนใจ สื่อสารถึงสินค้าได้อย่างชัดเจน

2) เพิ่มช่องทางขายของ สร้างโอกาสทางการค้าดึง “ของดี” ในท้องถิ่นของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอยู่จำนวนมากให้เป็น “ของเด่น” ในประเทศ พร้อมด้วยการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท

3) โยงใยเครือข่ายธุรกิจ เมื่อธุรกิจสามารถดำเนินไปอย่างมืออาชีพและมีช่องทางการขายที่หลากหลายแล้ว การทำธุรกิจในยุคนี้จะต้องมีการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตวัตถุดิบ ร้านค้าส่งที่จะช่วยกระจายสินค้า หรือแม้กระทั่งธุรกิจในประเภทเดียวกันเองก็สามารถรวมตัวกันเพื่อเกื้อกูลกันทางธุรกิจได้นั่นเอง

นอกจากนี้ กรมยังมีกิจกรรมให้ความรู้แก่กลุ่มสตรีฯ และเจ้าของธุรกิจที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด โดยเป็นการอบรมในเรื่องการทำตลาดออนไลน์ และสอนการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ (Display) ให้ดึงดูดลูกค้า รวมถึงกิจกรรมแสดงและจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 30 ราย

เช่น ผ้าบาติก เครื่องจักสาน ขนมโบราณ โรตีกรอบ ชุดข้าวยำพร้อมทาน น้ำบูดู ลูกหยีแปรรูป ข้าวเกรียบปลา และเกลือสมุนไพร เป็นต้น กิจกรรมสาธิตวิธีการผลิตสินค้าเด่นของปัตตานี อย่างกลุ่มสตรีรายาบาติก และสมุนไพรไทย จากศยาสมุนไพร

ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ร่วมกับนักธุรกิจ (Trader) รายใหญ่ของไทย อาทิ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด และสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ภายหลังจบกิจกรรมคาดว่าจะเกิดการซื้อขายขึ้น พร้อมสร้างออร์เดอร์ให้กับกลุ่มสตรีฯได้ทันที

อีกทั้งในอนาคตกรมจะขยายความสำเร็จนี้ไปสู่การสร้าง Digital Village by DBD ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การส่งเสริมของกรม ที่สร้างชุมชนออนไลน์จากการดึงศักยภาพของผู้ผลิตในท้องถิ่น ประกอบกับเผยแพร่อัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายบนตลาดออนไลน์

ส่งเสริมธุรกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้

กรมได้ดำเนินาอย่างต่การมอเนื่อง ก่อนหน้านี้ได้ปรับลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจทุกประเภทลง 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2569 ซึ่งมี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมอยู่ด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และดึงดูดนักลงทุนให้เข้าสู่พื้นที่มากขึ้น

โดยการ MOU ครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจในท้องถิ่นสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง ดูแลครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สำคัญจะเป็นกุญแจไขอนาคตทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับการค้าผ่านชายแดนนำสินค้าไทยส่งออกสู่ต่างประเทศตามมา