โคเนื้อ จ.ชุมพร ขึ้นแท่นโปรดักต์แชมเปี้ยนฮาลาลไทยเตรียมโกอินเตอร์

กระทรวงอุตสาหกรรม ลุยอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ “อาเซียน ฮาลาล ฮับ” ปักธงจังหวัดชุมพร เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก ชิงเค้ก 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ชูโคเนื้อเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยน หวังธุรกิจฮาลาลและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ภาคใต้และทั่วประเทศ รายได้เกษตรกรพุ่ง 10,000 ล้านบาท กระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 24,000 ล้านบาท ด้าน สศอ. ทุ่มงบฯ 1,230 ล้านบาท เปิดแผนเร่งตลาดฮาลาล 4 แผน

วันที่ 4 มีนาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเป้าหมายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ “อาเซียน ฮาลาล ฮับ” (ASEAN Halal Hub) เป็นเหตุผลที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง โดยใช้กลไกในการนำศักยภาพของหน่วยงานภายใต้สังกัด มาบูรณาการการทำงานควบคู่กับใช้จุดเด่นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยมาต่อยอด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดชุมพร

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

ที่ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบ และศักยภาพการผลิตอาหาร จึงเหมาะแก่การผลักดันเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก สามารถตอบโจทย์ความต้องการตลาดผู้บริโภคอาหารฮาลาลทั่วโลกที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และนับเป็นจุดเริ่มต้นในการเร่งผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทย สู่อาเซียนฮาลาลฮับของรัฐบาล

โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME D Bank)ได้เร่งสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดใกล้เคียงให้เข้าถึงแหล่งทุน เพื่อยกระดับศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจ ภายใต้แนวทาง “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” ขจัดขั้นตอนการทำงานที่เป็นอุปสรรค ควบคู่กับการสร้างบริการใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งทุนพัฒนาธุรกิจได้ ไปพร้อมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ล่าสุดได้ทำพิธีมอบสินเชื่อให้กับบริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด ที่ติดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน แต่ด้วยศักยภาพและโอกาสเติบโตของธุรกิจ จึงได้รับการสนับสนุนเพื่อเข้าถึงเงินทุนสำเร็จผ่านโครงการสินเชื่อแฟกตอริ่งวงเงิน 10 ล้านบาท ในการขยายกิจการ ซึ่งหากสามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิตแล้ว คาดว่าจะสร้างยอดขายได้กว่า 14,000 ล้านบาทต่อปี และสามารถรับซื้อโคจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้และทั่วประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี สามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 24,000 ล้านบาท

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ ครม.สัญจร จ.ชุมพรและระนอง เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา กรมได้ใช้กลไกการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM Connection) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Financial Inclusion) ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ด้วยการเร่งพัฒนากลไกการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในวงเงิน 10 ล้านบาท

ภาสกร ชัยรัตน์
ภาสกร ชัยรัตน์

และช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ภาคใต้และทั่วประเทศให้สามารถสร้างยอดขายและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ พร้อมทั้งต่อยอดและพัฒนาธุรกิจโคแปรรูปฮาลาลให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการส่งเสริมและผลักดันศักยภาพกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ที่ได้มาตรฐานฮาลาล รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือในมาตรฐานฮาลาล และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผ่านการเชื่อมโยงกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพของผู้ประกอบการโคในพื้นที่ และการสร้างแบรนด์เนื้อโคคุณภาพของภาคใต้ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึง (ร่าง)แผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล 5 ปี (2567-2571) ภายใต้งบประมาณ 1,230 ล้านบาท ด้วย 4 แผน คือ 1.สร้างให้เกิดการรับรู้และยอมรับผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย เชื่อมโยงท่องเที่ยวและบริการ/MICE 2.พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยให้มีคุณภาพ มาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ มีอัตลักษณ์ไทยเพื่อขับเคลื่อน Soft Power 3.ลดข้อจำกัด/แก้ไขระเบียบ บูรณาการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฮาลาล

4.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างงานสร้างอาชีพ กระจายรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 1.2% หรือ 55,000 ล้านบาท แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 100,000 คน/ปี

ซึ่งเป้าหมายในระยะแรกผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล คือ อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป (อาหารทะเล) Ready-to-Eat อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติอาหารมุสลิมรุ่นใหม่ (Snack Bar) แฟชั่นฮาลาลอย่างเช่นสิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง ยาและสมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล โกโก้ฮาลาล บริการและท่องเที่ยวฮาลาล

สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาล การแข่งขันในตลาดอาหาฮาลาลโลก ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันกันเองระหว่างประเทศ Nonmuslim Country โดยมีอินเดีย บราซิล จีน และสหรัฐ เป็นผู้นำตลาด ส่วนไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาด 2.7% ลดลงจาก 4.1% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 4,245 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 44% หรืออยู่ที่ 6,114 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565

ซึ่งมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลไทยขยายตัว แต่สัดส่วนตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงจากช่วง 10 ปีก่อน จากความสามารถในการแข่งขันของประเทศคู่แข่งที่มีมากกว่า ซึ่งในขณะเดียวกันหลังโควิด-19 หรือนับตั้งแต่ปี 2565 โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลมูลค่า 213,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.6%

และช่วง 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2566) การส่งออกอาหารฮาลาลของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น 136,503 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565