กกร.ชี้ GDP ไทยปี 2567 โตถึง 3.3% ลุ้นมาตรการดึงลงทุนเพิ่มรายได้ – เร่งเบิกงบฯQ2

กกร.ประเมิน GDP ปี 2567 ยังคงโตในกรอบ 2.8-3.3% ส่งออกโต 2-3% เงินเฟ้อ 0.7-1.2% แม้เศรษฐกิจอ่อนแอ ชงรัฐออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ทั้งต่ออายุของเดิมและออกใหม่ เชื่ออีกไม่นานรัฐออกมาตรการเพิ่มรายได้หลังกลับจากโรดโชว์หนุนการลงทุน เร่งเบิกจ่ายงบฯ ต้น Q2

วันที่ 6 มีนาคม 2567 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 (กกร.) ในฐานะประธานที่ประชุมว่า กกร.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ในกรอบ 2.8-3.3% ตามที่ประเมินไว้เดิม ส่งออกโต 2-3% เงินเฟ้อ 0.7-1.2%

“เราจะเห็นนโยบายของภาครัฐตั้งแต่ต้นแล้วว่า รัฐต้องการที่จะเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ซึ่งตอนนี้รัฐเขาลดรายจ่ายให้อยู่ ก็จะเหลือการเพิ่มรายได้ที่เราคาดว่ารัฐกำลังจะมีมาตรการออกมาเร็ว ๆ นี้แน่นอน หลังจากที่ไปโรดโชว์ต่างประเทศกลับมา”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐควรต้องเร่งทำคือ การออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ หากไม่สามารถออกมาตรการใหม่ได้ ก็ให้ใช้วิธีการต่ออายุมาตรการเก่าไปก่อน เชื่อว่ามันจะช่วยได้ เช่นเดียวกัน ควรมีมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว เพราะจากการประเมินไตรมาส 1 ยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ หนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ

พร้อมกันนี้เสนอให้ปรับเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ซึ่งจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 ให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการประคองเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง และจะหนุนการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในระยะข้างหน้า

ในส่วนเศรษฐกิจโลกปี 2567 กกร.ประเมินว่ามีแนวโน้มเติบโตได้ แม้ว่าจะยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก อาทิ สหรัฐด้านแรงงานเริ่มมีแนวโน้มแผ่วลง ส่วนจีนนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีจำกัด ปัญหาวิกฤตในทะเลแดงส่งผลให้ค่าระวางเรือยังอยู่ในระดับสูง ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้าไทย แต่การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักเดือนกุมภาพันธ์มีแนวโน้มเติบโตจากภาคบริการ

ทาง กกร.จึงยังประเมินตัวเลขส่งออกเป้าหมายอยู่ที่ 2-3% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่วางไว้ 1.99%

ในภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้าสู่ระดับเดิม และกำลังซื้อภายในประเทศถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน แม้ภาคการส่งออกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้แต่คาดว่าทั้งปีมูลค่าการส่งออกจะเติบโตได้ในระดับต่ำ อีกทั้งความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศยังมีสูง ขณะที่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำ สำหรับการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดถึง 50% เนื่องจากชาวจีนหันไปท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ ปัญหาหนี้และกำลังซื้อภายในประเทศที่มีแนวโน้มอ่อนแอ จะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของครัวเรือนต่อไป

นอกจากนี้ กกร.ให้ความสำคัญกับกลไกการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ผ่านร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ที่ ครม.ได้มีมติรับหลักการ และมอบให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ. อยู่นั้น ดังนั้น เพื่อให้กลไกการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมีความยั่งยืน และครอบคลุมปัญหาในทุกมิติ ทั้งจากปัญหา PM 2.5 การเผาในที่โล่ง มลพิษจากภาคขนส่ง และมลพิษข้ามแดน กกร.จึงมีข้อเสนอแนะต่อการจัดทำร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ดังนี้

เสนอให้มีผู้แทนภาคเอกชนจำนวน 4 ท่าน เท่ากับภาคประชาชน เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการขับเคลื่อน 3 คณะ ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด 2.คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 3.คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน บูรณาการการกำกับดูแลด้านมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ดัชนีคุณภาพอากาศ และมาตรฐานการควบคุมต่าง ๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

ทบทวนการวางหลักประกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในการขออนุญาตประกอบกิจการ โดยควรนำเอาระบบการซื้อประกันภัยมาใช้ทดแทนในกรณีที่เกิดความเสียหาย รวมทั้งปรับบทลงโทษผู้กระทำความผิดให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม

ทบทวนการปรับปรุงเงื่อนไขและข้อจำกัดการใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถนำงบประมาณมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการกำหนดมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และศึกษาความเหมาะสมและรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ. โดยเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ กกร.ยังมีความกังวลถึงเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผักและผลไม้ที่นำเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศไทย โดยในเดือนมกราคมการนำเข้าสินค้าได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 13,275.20 ล้านบาท ขยายตัว 8.45% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน

ซึ่งการที่ผักและผลไม้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้ภาครัฐต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ช่วยรัดกุมในการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าผักและผลไม้ รวมทั้งเพิ่มกำลังคนและเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจสอบสินค้าผักและผลไม้ที่เข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศ