กกร.ขอตรึงค่าไฟ 3.99 บาท ขู่ปรับราคาสินค้า 5-10%

อุ้มค่าไฟ

กกร.ขอตรึงค่าไฟงวดแรกปี 2567 ที่ 3.99 บาท ขู่ปรับราคาสินค้า 5-10% วอนรัฐบาลตั้ง กรอ. พลังงานฝ่าวิกฤตค่าไฟแพง หวั่นนักลงทุนหนีซบเพื่อนบ้าน แนะเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หาแหล่งก๊าซธรรมชาติแทนเอราวัณผลิตไม่เข้าเป้า

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คาดว่าการปรับขึ้นค่าไฟในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันกันยายน-ธันวาคม 2566 ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยนั้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 17% ซึ่งจะกระทบกับ 45 อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมไอทีอื่น ๆ รวมถึงกระทบกับราคาสินค้าที่อาจปรับตัวขึ้น 5-10%

โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางสูง การขึ้นค่าไฟฟ้ายิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน ดังนั้นรัฐควรพิจารณาทบทวนค่าไฟงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ให้รอบคอบอีกครั้ง โดยตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยไปก่อน จนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ และกำหนดค่าไฟให้มีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติทั้งรายเก่าและรายใหม่

เกรียงไกร เธียรนุกุล

โดยเฉพาะนักลงทุนชาวญี่ปุ่นและไต้หวัน ที่ได้มีหลายรายติดต่อเข้ามาเพื่อแสดงความกังวลถึงค่าไฟที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งราคาพลังงานเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศ

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเร่งการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงาน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมดูแลโครงสร้างค่าไฟ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ไปเชิญชวนให้เข้ามาลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานมหาศาล หากค่าไฟแพงอาจตัดสินใจย้ายฐานการลงทุนไปที่ประเทศใกล้เคียงแทน โดยราคาค่าไฟที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียได้นั้น ควรอยู่ระหว่าง 2.70-3.30 บาทต่อหน่วย

อีกทั้งนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังกล่าวอีกด้วยว่า การยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) หรือการอุ้มค่าไฟให้กับกลุ่มเปราะบางเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น แต่การแก้ปัญหาระยะยาวคือการปรับสูตรโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติและเร่งหาแหล่งพลังงานราคาถูกทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเร่งเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงเร่งการผลิตก๊าซธรรมชาติในแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดเดิมถึง 2 เดือน

โดยปัจจุบันผลิตได้เพียง 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน) ล่าช้าจากเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จะมีกำลังผลิตที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุนค่าไฟที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงเข้ามาทดแทนส่วนที่ล่าช้า จึงอยากขอให้รัฐบาลช่วยเข้าไปช่วยดูสัญญาดังกล่าว รวมถึงเจรจาค่าเสียโอกาสเพื่อหาทางออกร่วมกัน