ปิดฉาก “อาเซียน-ออสเตรเลีย” สร้างความเชื่อมโยง 4 มิติ

อาเซียน-ออสเตรเลีย

ปิดฉากไปแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 4-6 มี.ค. 2567 ที่นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พร้อมคณะนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศ เข้าร่วม

3 เสาหลักอาเซียน

อาเซียน-ออสเตรเลีย นับได้ว่ามีความสำคัญที่เชื่อมโยงต่อ “อาเซียนและไทย” เพราะไม่เพียงเป็นตลาดการค้าที่มีมูลค่าถึง 178,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และคิดเป็น 15% ของการค้าทั้งหมดของออสเตรเลีย แต่ยังเป็นพันธมิตรด้านการลงทุนกับอาเซียนมีมูลค่า 307,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ASEAN-Australia Cooperation under ASEAN’s Three Community Pillars” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือภายใต้ 3 เสาหลัก คือ การเมืองและความมั่นคง, เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม

นายเศรษฐากล่าวว่า ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้กล่าวถึงสิ่งที่ประเทศไทยผลักดัน 2 เรื่องหลัก คือ การสร้างความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ทั้งการค้าการลงทุน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ไร้รอยต่อ, ด้านดิจิทัล และด้านประชาชน การติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างประชาชนผ่านการส่งเสริม Soft Power และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือด้านการเชื่อมโยงการตรวจลงตราระหว่างกัน

และการผลักดันเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ที่ไทยสามารถร่วมกับออสเตรเลีย ทำให้เกิดระบบนิเวศ EV ครบวงจร รวมถึงการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ตลอดจนประเด็นการส่งเสริมวาระสีเขียวในภูมิภาค

ความเชื่อมโยง 4 ด้าน

สำหรับความเชื่อมโยงมิติต่าง ๆ นั้น จะแบ่งได้ 4 ด้านหลัก กล่าวคือ 1.ความเชื่อมโยงการค้าและด้านการลงทุน ซึ่งจะส่งเสริมมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน จากข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งกรอบ RCEP และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area : AANZFTA) ซึ่งในปี 2566 มีการส่งออกไทยไปยังออสเตรเลียโดยใช้สิทธิประโยชน์ถึง 10,239 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกไปยังนิวซีแลนด์อีก 1,144 ล้านเหรียญสหรัฐ

2.ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการขนส่งอย่างไร้รอยต่อ โดยเสนอให้ออสเตรเลีย กระชับความร่วมมือกับอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาเอกสารแนวทางสำหรับท่าเรืออัจฉริยะ รวมทั้งเชิญชวนออสเตรเลียเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการ Landbridge EEC ระบบขนส่งทางราง และสนามบิน

3.ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ผ่านการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันอาเซียนกำลังพัฒนากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) ที่ถือเป็นกรอบข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับแรกของโลก

และคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนได้ 2 เท่า เป็น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมหวังว่าออสเตรเลียจะใช้ข้อริเริ่มออสเตรเลียสำหรับอาเซียน เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลในอนาคตด้วย

4.ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนด้วย Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ต้องการการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับการส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างกันของประชาชน ซึ่งไทยหวังว่าทุนจากออสเตรเลียที่มอบให้นักเรียนในอาเซียน และการจัดตั้งศูนย์ ASEAN-Australia จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น รวมทั้งหวังว่าออสเตรเลียจะอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าให้กับประเทศในอาเซียนให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

สรุป “ถ้อยแถลงนายกฯ”

โดยในถ้อยแถลงที่นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อหน้าผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย ระบุว่า ไทยเชื่อมั่นว่าความมั่นคงในภูมิภาค ภูมิทัศน์ของโลก และการร่วมกันจัดการกับข้อห่วงกังวลร่วมกัน จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้

โดยความจำเป็นท้าทายที่สำคัญ คือ 1.จำเป็นต้องส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ เชื่อว่าทุกคนมีวิสัยทัศน์เดียวกันคือภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง ยึดตามกฎและครอบคลุม

โดยยินดีที่สหรัฐและจีน ให้ไทยเป็นเวทีสำหรับหารือเพื่อรักษาเสถียรภาพของความสัมพันธ์ นอกจากนี้ต้องเสริมสร้างสถาบันระดับภูมิภาค และพหุภาคี เพื่อส่งเสริมการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น หวังว่าออสเตรเลียจะสนับสนุนกลไกของอาเซียน รวมถึงการมีส่วนร่วมของ AUKUS และ Quad

“อินโดแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ที่ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอยู่กับการเดินเรือที่เสรี เปิดกว้าง และเป็นไปตามกฎ จึงยินดีให้ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลและความร่วมมือด้านอื่นภายใต้ The ASEAN Outlook ในส่วนของตะวันออกกลาง มีความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในฉนวนกาซา จึงย้ำข้อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการสู้รบ เรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดทันที รวมทั้งคนไทย”

ขณะที่สถานการณ์ในเมียนมา เชื่อว่าทางออกที่สันติ มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียวของเมียนมาคือทางออกด้านการเมือง ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยได้ริเริ่มโครงการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามร่วมกันของอาเซียน ในการผลักดันฉันทามติ 5 ข้อ หวังว่าจะเป็นเส้นทางสู่การเจรจาที่สร้างสรรค์ และเป็นเวทีสำหรับการมีส่วนร่วมของเมียนมากับประชาคมระหว่างประเทศ

2.ความจำเป็นในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องป้องกันเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานด้วยการกระจายตลาดและการลงทุน

โดยอาเซียนและออสเตรเลียสามารถเสริมจุดแข็งของกันและกัน เพื่อยกระดับความมั่นคงของมนุษย์โดยเฉพาะด้านสุขภาพ และความมั่นคงด้านอาหาร ประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เชื่อว่าการสนับสนุน และการมีส่วนร่วมของออสเตรเลียในการเสริมสร้างศักยภาพและสนับสนุนเครือข่ายของหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงผ่านกระบวนการบาหลี มีความจำเป็นอย่างมาก และ

3.ความจำเป็นในความร่วมมือเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นความท้าทายที่ชัดเจน และเป็นปัจจุบัน เราต้องพยายามเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้มากขึ้น มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดชั้นนำ และเป็นศูนย์กลางของรถยนต์ไฟฟ้า

เปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด

“ในส่วนของไทยได้เพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน มีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 50% ภายในปี 2040 รวมทั้งออกพันธบัตรด้านความยั่งยืน และได้ระดมทุนไปแล้ว 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด และ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายเร่งด่วนอีกประการ คือ ปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน

โดยไทยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน จัดทำแผนปฏิบัติการฟ้าใสร่วมกัน ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน ที่หวังว่าจะได้ร่วมมือกับออสเตรเลียในด้านนี้”

และที่สำคัญในการเดินทางครั้งนี้ ไม่เพียงพบหารือกับภาครัฐเท่านั้น แต่นายกรัฐมนตรียังได้หารือกับเอกชน 6 บริษัทสำคัญคู่ขนานด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Fortescue บริษัทเหมืองท็อป 4 ของโลก ที่ให้ความสนใจที่จะลงทุน พลังงานสะอาด แบตเตอรี่ ไฮโดรเจน กรีนไฮโดรเจน ซึ่งจะนำมาสู่การพลิกโฉมอนาคตของประเทศอีกด้วย