ฟาร์มหมู ชัยนาท เดินหน้าโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร กัดฟันยอมทำหมูหันขาดทุนตัวละ 450 บาท แต่ยังดีกว่าขายหมูขุนขาดทุน ตัวละ 1,500 บาท
วันที่ 11 มีนาคม 2567 ปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชัยนาท ร่วมกับบริษัท เจริญชัย ฟาร์มกรุ๊ป และบริษัท ซีเอสฟาร์ม กรุ๊ป นำร่องโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร โดยการตัดวงจรทำหมูหัน จำนวน 500-700 ตัว/สัปดาห์
โดยมีนายธนยศ นงบาง ปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท นางปิยาภรณ์ อุณหบัณฑิต นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้าสำนักงานพาณิชย์จังหวัดชัยนาท พร้อมด้วย
นายปรีชา สมบูรณ์เจริญชัย ประธานกรรมการบริษัท เจริญชัยฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด และนายวัชรกฤต ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอสฟาร์มกรุ๊ป จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้
แหล่งข่าวจากฟาร์มเลี้ยงหมู จังหวัดชัยนาท ระบุว่า เราจะส่งลูกหมูจำนวน 500 ตัว ไปเข้าโรงเชือดที่จังหวัดราชบุรี เพื่อทำเป็นหมูหัน จากนั้นให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารภายในประเทศสนองนโยบายรักษาเสถียรภาพราคาหมู ซึ่งต้องยอมรับว่าขาดทุนจากต้นทุนราคาขายลูกหมู เฉลี่ยที่ตัวละ 1,000 บาท แต่เมื่อนำมาทำเป็นหมูหันจะเหลือราคาขายตัวละ 150 บาท บวกกับเงินอุดหนุนจากกระทรวงพาณิชย์อีกตัวละ 400 บาท เมื่อรวมกันแล้วเท่ากับได้รายได้จากการขายลูกหมูหันตัวละ 550 บาท ซึ่งเท่ากับว่าจะขาดทุนตัวละ 450 บาท หรือคิดเป็น 45% จากราคาขายปกติ
โดยขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้อนุมัติเงินอุดหนุนดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการขาดทุนลูกหมูเฉลี่ยตัวละอยู่ประมาณ 850 บาท แต่อย่างไรก็ตามก็ถือว่ายังขาดทุนน้อยกว่าการเลี้ยงหมูขุน เพราะปัจจุบันขาดทุนประมาณ 1,400-1,500 บาท จากต้นทุนราว 80 บาท
ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นตามนโยบายมติของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ครั้งที่ 1/2567 ที่เสนอแนวทางการลดจำนวนลูกสุกรที่จะเข้าสู่ระบบการผลิต โดยการทำหมูหัน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำจากปริมาณผลผลิตมากเกินความต้องการ ซึ่งมีเป้าหมายตัดวงจรลูกสุกรขนาด 3-7 กก. จำนวน 450,000 ตัว+