กระทรวงทรัพย์ ยันใช้งบฯกลาง 272 ล้านบาทแก้ปัญหาไฟป่าอย่างโปร่งใส

กระทรวงทรัพย์ ยันใช้งบฯกลาง 272 ล้านบาทแก้ปัญหาไฟป่าอย่างโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบ พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

วันที่ 17 มีนาคม 2567 นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โฆษกประจำกระทรวง เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีประเด็นในโลกออนไลน์ตั้งข้อสงสัยในการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้นั้น แม้ว่าในประเด็นที่กล่าวถึงเป็นงบฯภัยพิบัติ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ตาม

กระทรวงขอชี้แจงว่า งบประมาณที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ได้รับเป็นงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ไปพลางก่อน งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงินทั้งสิ้น 272,655,350 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

โดยเป็นส่วนของกรมป่าไม้ 109.94665 ล้านบาท และของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 162.7087 ล้านบาท สำหรับดำเนินการจ้างประชาชนประจำจุดเฝ้าระวังในพื้นที่ป่าที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า เพื่อร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยการเฝ้าระวัง ลาดตระเวน แจ้งเหตุไฟไหม้ และดับไฟป่าเบื้องต้นได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และฝุ่นละออง PM 2.5

ทั้งนี้ โครงการมีระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2567 ประกอบด้วยกิจกรรม

  1. ค่าจ้างสำหรับจ้างประชาชนเป็นรายบุคคล ประจำจุดเฝ้าระวังไฟป่า จำนวน 3 คน ต่อ 1 จุด
  2. ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นสำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องเป่าลม
  3. ค่าจัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า ได้แก่ ถังฉีดน้ำดับไฟป่า ไม้ตบไฟ และไฟฉายคาดหัว และอุปกรณ์สนาม
  4. ค่าวัสดุสำนักงาน กระดาษ หมึกพิมพ์ สำหรับลงทะเบียนการเข้า-ออก ของประชาชนที่ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า/ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
  5. ค่าจัดประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบและการแก้ไขปัญหาไฟป่าให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 1 ครั้ง
  6. ดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 3 ครั้ง
  7. ประสานงานและติดตามผลการดำเนินการของจุดเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า
  8. จัดซื้อเครื่องเป่าลมดับไฟป่าประจำจุดเฝ้าระวังละ 1 เครื่อง

ดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่ง จำนวน 1,069 จุด และพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวน 98 แห่ง จำนวน 1,582 จุด โดยให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด ทั้งการนำใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ในอดีต และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดจุดเฝ้าระวังไฟป่าให้เหมาะสม ดำเนินการจ้างประชาชนเป็นรายบุคคลประจำจุดเฝ้าระวังจำนวน 3 คน ต่อ 1 จุด และจัดตั้งจุดเฝ้าระวัง

และดำเนินกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ได้แก่ ลงทะเบียนการเข้า-ออกของประชาชนที่ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า/ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า แจ้งเหตุไฟป่า ลาดตระเวนตรวจหาไฟ รณรงค์/ประชาสัมพันธ์ และดับไฟป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

รวมถึงการสร้างความตระหนักรับรู้และรณรงค์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลกระทบและการแก้ไขปัญหาไฟป่าให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ประสานงาน และติดตามผลการดำเนินงานของจุดเฝ้าระวังไฟป่า ให้คำแนะนำการดำเนินงานแก่ชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และประเมินผลการดำเนินงานของโครงการ

ซึ่งในการดำเนินโครงการ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติงานตามแผนงานและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งยังเน้นย้ำถึงการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน นำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤตไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน

โดยเฉพาะพื้นที่มุ่งเป้า 10 ป่าสงวนแห่งชาติ และ 11 ป่าอนุรักษ์ พร้อมทั้งวางระบบการตรวจสอบและติดตามผล โดยจะมีการลงข้อมูลของผู้ปฏิบัติงานไว้ในระบบ Google Forms ประกอบด้วยข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ ภาพถ่าย เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้และมีการรายงานผลการปฏิบัติงานกับหัวหน้าพื้นที่ป่าตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน