Green Construction เทรนด์ธุรกิจก่อสร้างปี 2024

O-NES Tower

อุตสาหกรรมก่อสร้างนับเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และเมื่อไล่ย้อนไปถึงที่มาของสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ ทั้ง 13 ประเภท คือ แก้วและกระจก แกรนิตและหินอ่อน เคมี เซรามิก เทคโนโลยีชีวภาพ ปูนซีเมนต์ พลาสติก ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น โรงเลื่อยและโรงอบไม้ เหล็ก หลังคาและอุปกรณ์ และอะลูมิเนียม ต่างก็เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง และมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

แต่ในอนาคตอุตสาหกรรมก่อสร้างกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ การก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Construction โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “Green Construction toward ESG Achievement” เพื่อขับเคลื่อนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เข้าสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนแล้ว

ก่อสร้าง 1.4 ล้านล้าน โต 2%

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2567 คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างจะขยายตัว 2% ต่อปี มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท เป็นการขยายตัวจากการก่อสร้างของภาครัฐ 2% ต่อปี มูลค่าประมาณ 810,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่องจากอดีต เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และมอเตอร์เวย์ และเป็นการก่อสร้างในภาคเอกชนอีก 598,000 ล้านบาท ขยายตัว 3% ต่อปี

ทั้งโครงการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการปรับปรุงซ่อมแซมโรงแรมให้สอดคล้องกับการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายลงแล้ว ปัจจัยข้างต้นส่งผลต่อแนวโน้มความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง ปี 2567-2568 จะเติบโตขึ้นเฉลี่ย 3.5- 4% ต่อปี

อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างกำลังก้าวสู่การเป็น Green Construction จากเทรนด์ทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างความยั่งยืนตามหลัก ESG ที่คำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม การรับผิดชอบต่อสังคม และการบริหารงานที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการแสวงหาผลกำไรของธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการที่ปรับตัวจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดสินเชื่อสำหรับธุรกิจที่ลดโลกร้อน และยังออกเกณฑ์ในการปล่อยคาร์บอน เพื่อพิจารณาสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ หรือเป็นการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์

“ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กก่อสร้าง แก้ว กระจก อะลูมิเนียม องคาพยพเหล่านี้ต่างพากันทยอยปรับตัวกันหมดแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างมาตรฐานให้ตัวเอง”

ESG ตัวชี้วัดองค์กร

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวเน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ส.อ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้ประกอบการในหลายธุรกิจ

ขณะที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อแรงกดดันจากการดำเนินธุรกิจในระดับโลกที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะการนำกรอบ ESG มาเป็นตัวชี้วัดสำคัญขององค์กร ไม่ใช่มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญต่อการใส่ใจสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วย

“หากไม่มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG จะทำให้เกิดความเสี่ยงในธุรกิจมากขึ้นเช่นกัน อาทิ เสียโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แบรนด์สินค้า ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ สูญเสียความสามารถทางการแข่งขันจากการเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) เป็นต้น”

แรงกดดันจากการปล่อยคาร์บอน

นางกัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ และ นางวรรณโกมล สุภาชาติ ตัวแทนจากธนาคารไทยพาณิชย์ อธิบายถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ถึงโอกาสและความท้าทายในปี 2567 ว่า โครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดคือความคาดหวัง คือโครงการคมนาคมที่จะกิดขึ้น ทั้ง ไฮสปีดเส้นกรุงเทพฯ-โคราช เฟส 2 ที่ขยายส่วนต่อไปยังหนองคาย ซึ่งเป็นเมกะโปรเจ็กต์จากภาครัฐ และในส่วนของภาคเอกชนมูลค่าอีกกว่า 600,000 ล้านบาท จากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย และเชิงพาณิชย์ อย่างอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า แต่ยังคงเป็นโครงการเดิมที่ต่อเนื่องยังไม่ใช่โครงการใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องจับตา คือ 1.ต้นทุนการก่อสร้างที่ยังคงสูง โดยเฉพาะค่าแรง ราคาวัสดุอย่างเหล็ก ปูน รวมถึงต้นทุนจากราคาพลังงาน 2.สภาพคล่อง โดยปีที่ผ่านมาพบว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างปิดกิจการไปถึง 7% ซึ่งยังพบว่าส่วนใหญ่เป็น SMEs ที่รับเหมางานรัฐ 3.แรงกดดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นกติกาโลกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่าการใช้วัสดุก่อสร้างเป็นแรงกดดันที่สำคัญที่สุด ที่จะถูกส่งผ่านไปยังผู้ผลิต

จากแรงกดดันดังกล่าว ทำให้เกิดความท้าทายอย่างมาก เมื่อเทรนด์ ESG กดดันอย่างหนัก แต่ทั้งหมดนี้มันจะต้องเริ่มจากผู้ว่าจ้าง ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ต้องเริ่มจากผู้ว่าจ้างที่ระบุชัดว่า ต้องการ กรีนบิลดิ้ง จากนั้นผู้รับเหมาจะต้องบริหารจัดการในขณะการก่อสร้างให้ได้ด้วยการลดของเสีย ลดฝุ่น ลดการใช้พลังงาน ใช้วัสดุที่รีไซเคิล ปูนรีไซเคิล เหล็กรีไซเคิล เป็นต้น

ซึ่งจะนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เปลี่ยนมาใช้ไมดูล่าหรือปูนแผ่นสำเร็จรูปที่ผลิตมาจากโรงงาน โรงงานเหล็กได้เปลี่ยนเตาเผาจากเดิมมาเป็นเตาไฟฟ้า ทั้งยังศึกษาระบบการกักเก็บพลังงาน CCUS มาช่วยดักจับความร้อนที่เกิดจากเตาหลอม และในอนาคตจะมีการนำรูปแบบการผลิตเอทานอลจากความร้อนเตาหลอมเหล็ก เป็นแนวทางที่ต่างประเทศใช้กัน

O-NES Tower ต้นแบบตึก ESG

นายประเสริฐ เฉลิมรัตนานนท์ ผู้บริหารจาก บริษัท ไทยโอบายาชิ กล่าวถึงบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืนว่า ไทยโอบายาชิ เป็นเจ้าของตึก O-NES Tower ที่ซอยสุขุมวิท 6 ซึ่งตึกแห่งนี้ได้มีการออกแบบเป็นการพิเศษ ด้วยโครงสร้างเหล็กแทนโครงสร้างที่เน้นการใช้ปูนซีเมนต์

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเป็นตึกที่เป็นไปตามนโยบาย ESG ดังนั้นในการออกแบบตึกจะมีการหารือกับทางผู้รับเหมา สถาปนิก โดยแจ้งรายละเอียดที่ชัดเจน เพื่อง่ายต่อการออกแบบ และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้สามารถทำออกมาได้สมบูรณ์ เนื่องจากวัสดุก่อสร้างทั้งหมดถูกควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำ นั่นคือโรงงานผู้ผลิต เหล็กโครงสร้างผลิตจากโรงงานที่มีกระบวนการสะอาด ลดการปล่อยของเสีย หรือบางส่วนมาจากเหล็กรีไซเคิล

ในส่วนของโครงสร้างรายละเอียดตึกภายนอกอื่น ๆ เช่น กระจก ต้องเลือกใช้วัสดุที่กันความร้อน เพราะเมื่ออุณหภูมิภายในอาคารเย็น สามารถช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานได้เป็นอย่างมาก

และที่สำคัญการสร้างตึกสักแห่งจะต้องมองระยะยาว คือ การคงทนและคงอยู่ นานที่สุด 30-40 ปี ต้องบำรุงรักษาให้น้อยที่สุด เพราะจะเป็นอีกส่วนในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้นแบบของตึกแห่งนี้คือที่สุดของ ESG เช่นเดียวกับ อาคารศูนย์สิริกิติ์ นี่คือแนวทางที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเดินต่อไป ปรับตัวเพื่อรับกติกาโลก