“วงษ์สยาม” ขอโควตาน้ำอีอีซี เร่งปั๊มรายได้แต่งตัวเข้า ตลท.

Vongsayam
นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย

“วงษ์สยามฯ” ลุยยื่นขอโควตาน้ำอีอีซีรอบใหม่ เดินหน้าธุรกิจท่อน้ำอีอีซี พร้อมรุกขยายโครงการใหม่ ตั้งเป้าหมายอัพรายได้เติบโต ทะลุ 2 พันล้าน กางแผนยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี’68

สังคมรู้จัก “บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด” ในชั่วข้ามคืน จากกระแสข่าวการล้มยักษ์น้ำแห่งภาคตะวันออก อย่าง “บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ จนสามารถผงาดขึ้นเป็นคู่สัญญาท่อส่งน้ำในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับกรมธนารักษ์แทน

แต่แท้จริงแล้ว วงษ์สยามฯไม่ใช่บริษัทโนเนมในวงการก่อสร้าง เพราะหากไล่ไทม์ไลน์ย้อนหลังไป ธุรกิจนี้ตั้งต้นมาจาก “ไทยอุดมก่อสร้าง” เมื่อปี 2490 ก่อนที่มาต่อยอดเป็น “วงษ์สยามฯ” ในปี 2519 ด้วยทุนจดทะเบียน 630 ล้านบาท

นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยอุดมก่อสร้างตั้งโดยคุณพ่อ ปี 2490 ต่อมา วงษ์สยามฯก่อตั้งโดยคุณแม่ ปี 2519 ผมมารับงานต่ออย่างจริงจังเมื่อปี 2535 โดยความชำนาญหลักคือโครงการก่อสร้างด้านน้ำ มีลูกค้าหลักคือหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และก็มีส่วนของงานกลุ่มซิโน-ไทย และ ช.การช่าง บ้าง ในลักษณะซับคอนแทรกต์

สำหรับภาพรวมธุรกิจในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถกำไรสุทธิ 400 ล้านบาท เทียบน้ำประปาเกือบประมาณ 30% ในสิ้นปี 2566 ซึ่ง “เกินเป้าหมาย” โดยกำไรส่วนนี้นับรวมผลจากการประมูลโครงการท่อน้ำอีอีซีเข้าไปด้วย ส่วนในปี 2567 นี้ ธุรกิจมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น โดยยังมีเหลือโครงการค้างเก่าของอุดรธานี ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบให้ได้ในปีนี้ และในตัวโครงการต่อไปจะเริ่มดำเนินการ มูลค่าประมาณ 2-3 พันล้านบาท ต่อเนื่องถึงปีหน้า ส่วนใหญ่เป็นของการประปาส่วนภูมิภาค และบางส่วนเป็นของการประปานครหลวง คาดว่าจะมีส่วนผลักดันรายได้เพิ่มขึ้นไปถึง 2,000 ล้านบาทได้ ในปี 2568

บริษัทมีแผนเตรียมจะเข้าตลาดในไตรมาส 3 -4 จะยื่น e-Filing โดยอยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารงบดุลเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ คาดว่าจะเริ่มเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในปี 2568

เหตุผลในการชิงท่อน้ำอีอีซี

สำหรับโครงการท่อน้ำอีอีซี แผนระยะยาว จะมีกำไรไม่ได้มาก หากเทียบกับโครงการปกติที่มีการลงทุนกับภาครัฐบาล บริษัทต้องได้ 70% แต่ในโครงการอีอีซี บริษัทได้แค่ 20% เหตุที่ได้ไม่มาก เพราะบริษัทประมูลในตัวโครงการธนารักษ์ กำหนดว่าจะต้องขายน้ำ ประมาณ 11 บาท ซึ่งจะเสียค่าน้ำดิบ 50 สตางค์ จ่ายให้กรมธนารักษ์ 3.60 บาท ค่าไฟ 2.50 บาท รวมค่าอื่น ๆ 2 บาท รวมกำไรประมาณ 1-2 บาทกว่า ขณะที่กรมจะได้กำไรที่ 3 บาทกว่า ส่งผลให้โครงการนี้ รัฐได้ประโยชน์มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท

ที่บริษัทเข้าร่วมประมูล เพราะเห็นโครงการลงทุนจะได้บริหาร ไม่ได้ลงทุนก่อสร้างทั้งหมด และมีลูกค้าตายตัว กินผลกำไรน้อย ๆ แต่เป็นผลระยะยาว บริษัททำธุรกิจในภาคตะวันออกมานาน จึงมีข้อมูลเชิงลึกประกอบการตัดสินใจมาก และเดิมอีสท์วอเตอร์จ้างบริษัทเข้าไปทำโครงการของอีสท์วอเตอร์ ตั้งแต่การออกแบบ ดีไซน์ครบทุกแขนง จึงมีความเข้าใจการทำงาน ซึ่งการเปิดประมูลทุกฝ่ายสามารถที่จะเข้าร่วมได้ สิ่งที่รู้คือกรมธนารักษ์ขอผลตอบแทนเพิ่ม เมื่อตั้งบนโต๊ะทุกคนมีสิทธิ หากชนะก็ต้องยอมรับกติกา

ส่วนประเด็นเรื่องการคืนท่อน้ำอีอีซีของคู่สัญญารายเดิมกับกรมธนารักษ์ หลังจากที่ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับอีสท์วอเตอร์ต่อหน้านายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ผ่านมาถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้มอบทรัพย์สินให้กับกรมธนารักษ์ร้อยเปอร์เซ็นต์

สิ่งที่เป็นห่วงคือ หากส่งมอบล่าช้าจะมีความเสียหายต่อภาคราชการ จะเกิดความเสียหายมหาศาล แต่บริษัทต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี จ่ายทุกปี เพื่อไม่ให้สัญญาเป็นโมฆะ บริษัทยอมจ่ายเพื่อให้การส่งมอบร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนเรื่องข้อกล่าวหาขโมยน้ำนั้น บริษัทพร้อมให้พิสูจน์ ในทางตรงกันข้ามบริษัทได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่มาขโมยน้ำจากท่อน้ำของกรมธนารักษ์ไปแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนธันวาคม 2566 และเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ขอโควตาน้ำ-แผนในอนาคต

นายอนุฤทธิ์กล่าวว่า วันที่ 22 มี.ค. 2567 บริษัทยื่นขอโควตาน้ำรอบใหม่ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.น้ำฉบับใหม่ต่อกรมชลประทาน คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาและได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือน เพื่อผ่านกรมชลประทาน ไปยังสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) และคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยหัวใจสำคัญคือ กรมชลประทาน ที่จะต้องจัดสรรน้ำให้เพียงพอ และให้คณะกรรมการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์

ซึ่งการยื่นขอโควตาน้ำใหม่ ตอนนี้ พ.ร.บ.ใหม่ออกมาแล้ว ให้มีการขอใหม่พรุ่งนี้วันสุดท้าย ทุกรายจะต้องยื่นใหม่ กรมชลประทานพิจารณาจากเครื่องมือการนำน้ำออกมาใช้ ซึ่งตามข้อตกลง ตามมติ ครม. ตามข้อกฎหมาย การให้โควตาน้ำจะต้องให้ความสำคัญกับบริษัท วงษ์สยามฯ ก่อน ในฐานะคู่สัญญาของกรมธนารักษ์ ปริมาณที่ยื่นขอปีละ 150 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 33 ปี

ส่วนราคาที่จ่ายกำหนดเป็นอัตราไว้แล้ว โดยบริษัทจะนำน้ำที่ได้รับมาจำหน่ายให้ลูกค้า กำหนดเป็นขั้นบันได ช่วงโปรโมชั่น 5 ปีแรก จะมีเรตของบริษัท 11.50 บาท ใครซื้อมูลค่าสูงก็จะมีโปรโมชั่นลดลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนี้ลูกค้ารายใหญ่ของเราที่อยู่ในอีอีซี คือ อีสท์วอเตอร์ ก็เป็นลูกค้าเรา

นอกจากโครงการในอีอีซี ตอนนี้บริษัทมีการสำรองน้ำไว้ 2 แห่ง โดยซื้อที่ดินและบ่อเก็บน้ำไป 2 บ่อ เตรียมขยาย ส่วนภาคอื่นมีโอกาสขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ เช่น สมุย ภูเก็ต พังงา เป็นต้น โดยกรณีที่ภูเก็ต เพราะการประปามีโครงการท่อประปา ปีหน้า 3,600 กว่าล้านบาท พังงาไปภูเก็ต เพื่อเสริมศักยภาพส่งน้ำให้ภูเก็ต ส่วนหาดใหญ่จะมีโครงการผันน้ำจากสะเดามาหาดใหญ่ ส่วนสมุยมีปัญหาเพราะมีท่ออยู่ใต้ทะเล โดยบริษัทจะผลิตน้ำในโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีโครงการเสริมปีหน้าประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งประมูลไปแล้ว

นายอนุฤทธิ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าคดีที่มีการฟ้องร้องว่า ก่อนหน้านี้ บริษัทเดิมได้ยื่นฟ้องดำเนินคดี 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก ฟ้องว่า บริษัทเขาประมูลครั้งแรกชนะแล้ว แต่กรมธนารักษ์ไม่เคยประกาศผู้ชนะ เรื่องนี้เขาแพ้ไป ประเด็นที่ 2 เอกสารที่เชิญชวนรับไปแค่ 14 วันไม่ใช่ 15 วันตามที่กำหนด ซึ่งก็แพ้ไป ส่วนประเด็นที่สาม อ้างมติ ครม. ปี 2535 ในการให้อำนาจเขา แต่มติ ครม.ไม่ใช่กฎหมาย ซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ให้สิทธิขายน้ำดิบ และไปเช่าท่อธนารักษ์ กรมธนารักษ์ไม่ได้ถือตามมติ ครม.