แผนลงทุน ปตท. 89,203 ล้าน “อรรถพล” ส่งไม้ต่อ “คงกระพัน” ลุย EV ยา ไฮโดรเจน

PTT
PTT

ปตท. เผยแผนงานตลอด 4 ปี ของ “อรรถพล” ก่อนส่งแผนพลังงาน Powering Life with Future Energy and Beyond ภายใต้เงินลงทุน 5 ปี เกือบ 90,000 ล้านบาท ให้ “คงกระพัน” ผู้ว่าคนใหม่ พ.ค. 2567 เดินหน้ามุ่งสู่ธุรกิจใหม่ New S-curve ทั้งยา EV AI โลจิสติกส์ครบ รวมทั้งไฮโดรเจน ด้วยโมเดลตั้งบริษัทลูกดำเนินงาน ปี 2567 ทุ่มลงทุน 20,000-30,000 ล้านบาท ปลุกการลงทุน คาดราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล 

วันที่ 25 มีนาคม 2567 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนงานปี 2567 ว่า หลังจากที่บอร์ดอนุมัติเงินลงทุน 89,203 ล้านบาท แม้กำลังจะเปลี่ยนผู้นำในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ แต่สำหรับการลงทุนในปี 2567 จะใช้เงินประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท และ ปตท. ยังคงเดินหน้าภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต เป้าหมายคือการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และสร้างการเติบโตในธุรกิจพลังงานอนาคตรวมถึงธุรกิจใหม่

ขณะเดียวกันยังต้องที่บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน

รวมถึงธุรกิจที่สนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนนอกเหนือธุรกิจพลังงาน (Beyond) หรือธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรม New S-curve คือ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) เช่น ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) รวมถึงธุรกิจค้าปลีก Nonoil ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization) ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business)

ทั้งนี้ ธุรกิจใหม่คือส่วนที่ทำให้ ปตท. มีรายได้และเติบโตมากขึ้น จากวางเป้าหมายไว้ว่าจะมุ่งไปธุรกิจที่เป็น New S-cruve ปัจจุบันสามารถทำยา EV bio AI โลจิสติกส์ ถือว่า New S-curve ทั้งหมดทำครบแล้วใช้โมเดลการเติบโต ด้วยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อดำเนินงานแล้วเข้าถือหุ้นหรือซื้อธุรกิจนั้น ๆ มาเพื่อสร้างการเติบโต อย่างที่ร่วมทุนกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด เพื่อผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอเป็นวัตถุหลักสำหรับทำหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ

ตั้งบริษัท อินโนบิก เอลเอล โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อเพิ่มทุนบริษัทยา Lotus Pharmaceutical บริษัทผลิตยาชั้นนำในไต้หวัน การก่อตั้ง บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด ที่ผลิตอาหารแพลนต์เบสให้ผู้บริโภค ผู้ประกอบการด้านอาหาร และแบรนด์ต่าง ๆ

จัดตั้ง บริษัท อินโนบิก นูทริชั่น จำกัด (INNT) จัดตั้งขึ้นในปี 2565 ดำเนินธุรกิจทั้งในส่วนของโภชนาการทางการแพทย์ (Medical Nutrition) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการดูแลทางด้านโภชนาการ โดยจะพัฒนาสูตรสำหรับผู้ป่วยทั่วไปและสูตรสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค และในส่วนของโภชนเภสัช (Nutraceutical) ธุรกิจเกี่ยวกับโภชนาการอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และเพื่อป้องกันโรค

ตลอดที่ผ่านมาได้ปรับพอร์ตการลงทุนมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ส่วนธุรกิจพลังงานใหม่และธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากพลังงานต้องสร้างกำไรในปี 2573  มากกว่า 30% และต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2573 เช่น โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้พลังงานไฮโดรเจน การปลูกป่าใหม่เพิ่ม 2 ล้านไร่

สำหรับเงินลงทุน 5 ปี (2566-2570) ที่จะมารองรับการดำเนินงานตามแผนปี 2567-2571 อยู่ที่ 89,203 ล้านบาท เป็นกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท หรือ 34% ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท หรือ 17% ธุรกิจธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท หรือ 14% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท หรือ 4% บริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% อีก 27,822 ล้านบาท

“ปตท.มีการเปลี่ยนผู้นำมาตลอด คนใหม่นี้เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มบริษัท ปตท. อยู่แล้ว ถือว่าสบายใจได้ซึ่งคนใหม่น่าจะรู้ PTT WAY อยู่แล้ว เชื่อว่าการเดินตาม PTT WAY มันจะประสบความสำเร็จ การรับไม้ต่อจะทำให้มันเจริญก้าวหน้าไปด้วยอยู่แล้ว เหมือนกับที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอด”

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่เงินเฟ้อชะลอตัว ส่วนเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น แต่อาจเผชิญกับการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก อุปทานจากกลุ่ม non-OPEC และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนราคาน้ำมัน Dubai ปี 2567 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีก่อน หรือจะอยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (INNOBIC) กล่าวว่า ธุรกิจ Life Science ปตท. เปิดดำเนินการมาแล้ว 3 ปี เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตยา เช่น ยาชีววัตถุที่มีนวัตกรรม ยาสามัญที่เพิ่งหมดสิทธิบัตร โดยมุ่งไปที่โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร โรคการผิดปกติของระบบประสาท เป็นต้น นอกจากนี้ได้ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีกลุ่ม ปตท. ใช้เม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีนผลิตผ้า Melt Blown รวมถึงการผลิตยางสังเคราะห์ Nitrile Butadiene Latex (NBL) เพื่อเป็นวัตถุดิบทำถุงมือไนไตรต์ รวมไปถึงการผลิตอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นยาสำหรับ เทรนด์พลังงานในปัจจุบันและอนาคต ด้วย

ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นผลมาจากการเพิ่มปริมาณของก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas : GHG) โดยมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงมีข้อตกลงระหว่างประเทศในการลดปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศ ทำให้แนวโน้มการใช้พลังงานฟอสซิล อาทิ ถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติลดลง และกำลังจะหมดไปในอนาคต

โดยจะถูกแทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่นำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และพลังงานไฮโดรเจน

สำหรับพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนไม่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ การใช้ไฮโดรเจนจึงไม่ปล่อยก๊าซ CO2 ฝุ่นละออง หรือมลพิษไอเสียอื่น ๆ นอกจากนี้ ไฮโดรเจนยังมีค่าพลังงานความร้อนต่อน้ำหนักสูงกว่าน้ำมัน Gasoline ประมาณ 3 เท่า

ซึ่งไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ทั่วโลกสนใจมากขึ้น และถูกเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เนื่องจากไฮโดรเจนมีความสะอาด ไม่มีสารประกอบคาร์บอนจึงไม่มีการปลอดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อถูกใช้งาน ดังนั้น หลายประเทศจึงให้ความสนใจในการใช้ไฮโดรเจนในหลายรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่งต่าง ๆ ทั้งในรถยนต์ รถบรรทุก รถไฟ และเรือ หรือการใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับให้ความร้อนคุณภาพสูงโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กแทน

ไฮโดรเจนสีน้ำตาล (Brown Hydrogen) เป็นไฮโดรเจนที่ใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตไฮโดรเจนผ่านกระบวนการ Gasification ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) เป็นไฮโดรเจนที่ผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบผ่านกระบวนการ Steam Methane Reforming (SMR)

ไฮโดรเจนสีฟ้า (Blue Hydrogen) ก็จะหมายถึงไฮโดรเจนที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจนสีชมพู (Pink Hydrogen) เป็นไฮโดรเจนที่ผลิตโดยใช้กระบวนการ Water Electrolysis ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ก็จะหมายถึง ไฮโดรเจนที่ผลิตจากกระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำโดยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้านั้นต้องมาจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) หรือ พลังงานลม (Wind Energy)

ดังนั้น ไฮโดรเจนสีเขียวนับเป็นพลังงานที่มีความสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แม้จะมีการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวอยู่เพียง 5% ของปริมาณไฮโดรเจนที่ใช้งานกันทั่วโลก แต่ก็เป็นที่คาดหมายกันว่า ไฮโดรเจนสีเขียวนี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในด้านพลังงานหลังปี 2573 เป็นต้นไป และราคาของไฮโดรเจนสีเขียวก็จะอาจจะถูกกว่าไฮโดรเจนสีเทาในอนาคตอีกด้วย

สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาของไฮโดรเจนสีเขียวมีแนวโน้มที่ลดลงในอนาคตมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน กล่าวคือ ต้นทุนของเทคโนโลยีของ Water Electrolysis มีราคาต่ำลง (ลดลงกว่า 40-50% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2015-2019)) และอย่างที่สองก็คือ ราคาต้นทุนไฟฟ้าจาก Renewable Energy ที่มีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยราคาต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลดลงกว่า 40-90% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2010-2020) ราคาของไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตได้ในปัจจุบันทั่วโลกจะอยู่ในช่วง $1.6-$10 ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาไฮโดรเจนสีเขียวก็จะขึ้นอยู่กับราคาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตในประเทศนั้น ๆ และขนาดกำลังการผลิตของ Electrolyzer

ทั้งนี้ ปตท.ได้เล็งเห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้งานไฮโดรเจนในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงโอกาสในการสร้างธุรกิจไฮโดรเจน โดยที่ผ่านมา ปตท.ได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวในเทคโนโลยีไฮโดรเจนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง และในปี 2562 ปตท.ได้จัดตั้ง Hydrogen Thailand Club ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมและผลักดันในเรื่องเทคโนโลยีไฮโดรเจนให้กับประเทศไทย

นอกจากนี้ ปตท.ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินโครงการศึกษาและทดสอบการใช้งานไฮโดรเจนในภาคขนส่ง (Fuel Cell Electrical Vehicle (FCEV) Demonstration Project) โดยได้มีการจัดตั้งสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกในประเทศไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และทดสอบการใช้งานของรถ FCEV จำนวน 2 คัน ในช่วงปี 2566-2567 ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากโครงการก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการใช้งานโฮโดรเจนในภาคขนส่งของประเทศต่อไป

สำหรับผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ของยอดขาย สูงกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 13,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนกำไรส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของบริษัทในกลุ่ม ปตท. มาจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 45% ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 9% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทย่อยอื่น ๆ 17%