EV เดือดรับ 7 แบรนด์น้องใหม่ “ปตท.-เอ็มจีซี” ชูธง Xpeng

xpeng

ตลาดรถ EV เดือดไม่หยุด ปตท.ผนึกมิลเลนเนียมกรุ๊ป ตั้ง “นีโอ โมบิลิตี้ เอเชีย” ทำตลาด Xpeng และ ZEEKR ลั่นเร่งสร้าง Ecosystem ผลักดัน New S-curve ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ชี้ตลาด EV ปีนี้ทุกค่ายใส่กันไม่ยั้งมีน้องใหม่แจ้งเกิดมากถึง 7 แบรนด์กระทุ้งสงครามราคาเกิดอีกรอบ “GAC AION” วุ่น V Group ถอนตัวดิสทริบิวเตอร์

เป็นที่แน่นอนว่าตลาดรถ EV ในประเทศไทยกำลังเดินตามรอยจีนแบบไม่ผิดเพี้ยน จากผู้เล่นมากรายจนกลายเป็นโอเวอร์ซัพพลายและหนีสงครามราคาในที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเมินกันว่าในปี 2567 ทั้งยักษ์ใหญ่และสตาร์ตอัพแบรนด์จีนทยอยเข้าไทยอีกราว 5-7 แบรนด์

ยักษ์ ปตท.ลุยเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก ปตท.สบช่องตลาด EV ส่งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme) ภายใต้สังกัดบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ในเครือ ปตท. ดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าผ่านการให้บริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบบุคคลทั่วไป (B2C) และแบบองค์กร (B2B) ขายรถยนต์ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า บริการสมาชิก EVme Club เพื่อดูแลและรองรับผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ

ล่าสุดนายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ยังเปิดเผยอีกว่า ได้บรรลุข้อตกลงการร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญกลุ่มบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ MGC-ASIA จัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อนีโอ โมบิลิตี้ เอเชีย ร่วมกันทำตลาดรถ EV แบรนด์ Xpeng และ ZEEKR ซึ่งความร่วมมือระหว่างกลุ่มอรุณ พลัส และ MGC-ASIA เกิดขึ้นจากความต้องการร่วมกันที่จะขับเคลื่อน EV Ecosystem ของประเทศไทยผ่านจุดแข็งทางธุรกิจของทั้ง 2 กลุ่มบริษัทให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นในทุกมิติ สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้บริโภคได้หลากหลาย สร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงอื่น ๆ ที่จะร่วมกันทำในอนาคต

ปั้น New S-curve ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ MGC-ASIA เปิดเผยว่า บริษัทมีวิสัยทัศน์ที่ขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะกับยานยนต์ไฟฟ้า ก็คือการร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญ อย่างเช่น อรุณ พลัส ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายในไตรมาส 2 ปี 2567 นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่จะช่วยรองรับการเปลี่ยนผ่านจากยุคของยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง ไปสู่ยุคแห่งยานยนต์ไฟฟ้า ผลักดันให้เกิด New S-curve ทั้งสินค้าและบริการที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเติมเต็มระบบนิเวศทางธุรกิจของกันและกัน และให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ยานยนต์ไฟฟ้านับเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังเติบโตทั่วโลก บริษัทมีแผนจัดตั้งโชว์รูมยานยนต์ไฟฟ้าในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขตกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงการวางเครือข่ายการให้บริการหลังการขาย ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านเครือข่ายทางธุรกิจของ MGC-ASIA และกลุ่มอรุณ พลัส โดยในอนาคตทั้ง MGC-ASIA และกลุ่มอรุณ พลัส จะยังคงมุ่งแสวงหาโอกาสในการขยายธุรกิจร่วมกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ EV Ecosystem ของทั้ง 2 กลุ่มบริษัท และส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสังคมไทยไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

“เงื่อนไขการลงทุนมีสัดส่วนการถือหุ้นคนละครึ่ง มีรถครบทุกเซ็กเมนต์ทำตลาด เราไม่ได้เข้ามาตรการส่งเสริม EV 3.5 ของรัฐบาล การร่วมทุนครั้งนี้เตรียมไว้ 3 เฟส โดยแบรนด์ Xpeng เราเป็นเอ็กซ์คลูซีฟดีลเลอร์ 3 ปี ส่วนแบรนด์ ZEEKR เป็นแค่ดีลเลอร์พาร์ตเนอร์ชิป มั่นใจว่าอีโคซิสเต็มที่มีอยู่ทั้งหมด เช่น บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า บริการประกันภัย บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง สินเชื่อรีไฟแนนซ์และการเงินอย่างครบวงจร บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้า บริการหลังการขาย ศูนย์เช็กระยะ เปลี่ยนอะไหล่ ตลอดจนซ่อมสีและตัวถัง จะหนุนธุรกิจและผลประกอบการให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแบรนด์ Xpeng จัดเป็นรถ EV แบรนด์ใหญ่แบรนด์หนึ่งของจีน หนึ่งในคู่แข่งสำคัญที่กำลังรุก Tesla

Xpeng มีรถ EV รุ่นต่าง ๆ มากมาย เช่น SUV รุ่น G3, G9 ซีดาน รุ่น P7 และ P5 ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้

Xpeng กำลังเพิ่มการผลิตเป็น 2 เท่า ตามแผนของโรงงานผลิต Zhaoqing จาก 100,000 คันต่อปี เป็น 200,000 คันต่อปี โรงงาน Zhaoqing ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน

สงครามราคาเดือดไม่หยุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสการเคลื่อนตัวของรถจีนโดยเฉพาะรถ EV ที่เข้ามายึดตลาดในประเทศไทย โดยได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าชาวไทย ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดรถยนต์ในกลุ่มสันดาปอย่างจริงจัง แต่จำนวนแบรนด์ที่มากขึ้น และค่ายรถยนต์ที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนก็น่าจะส่งผลต่อภาวะการแข่งขันอย่างแน่นอน

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตลาดรถ EV ปีนี้เชื่อว่าการแข่งขันรุนแรงแน่ ตอนนี้เท่าที่ประเมินน่าจะมีอีก 5-7 แบรนด์หลัก ๆ เช่น ยักษ์ Geely 1-2 แบรนด์, CHERY ราว ๆ 1-2 แบรนด์ นอกนั้นก็เป็นพวกสตาร์ตอัพ ซึ่งในจีนมีหลายร้อยบริษัท เหล่านี้มองว่าตลาดเมืองไทยกำลังหอมหวาน โดยดูจากตัวเลขการขยายตัวปี 2566 ประเทศไทยขายรถ EV สูงถึง 75,049 คัน โตขึ้นจากปี 2565 ที่ทำได้แค่ 9,729 คัน เพิ่มขึ้นมากกว่า 600% ยอดจดทะเบียนเฉพาะเดือนมกราคม 2567 มีถึง 15,943 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมปีที่แล้วกว่า 200% ถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงมาก

สิ่งที่ตามมาหลังจากนี้สงครามราคาเดือดแน่ ๆ ที่ผ่านมาก็เดือดมาตลอด ค่ายไหนเปิดรถใหม่ขายถูกกว่าเดิมหลายหมื่นบาท รวมถึงรถที่ขายอยู่เดิมก็ทุบราคาลงมาอีก เช่น New BYD ATTO 3 รุ่นปี 2024 ทั้ง ๆ ที่ออปชั่นดีกว่า แต่ก็ขายต่ำกว่ารุ่นเดิม ตัวเริ่มต้นแค่ 8.9 แสนบาท เร็ว ๆ นี้น่าจะได้เห็นรูปแบบอื่น ๆ ตามมาอีก นอกจากการทุบราคา เช่น แจกประกันภัยฟรีไม่ใช่แค่ปีเดียว อาจจะถึง 3-5 ปี รวมถึงวอร์แรนตีแบตเตอรี่ ซึ่งรุ่นหลัง ๆ อาจจะทะลุเกิน 10 ปี เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้รถ

OMODA 5 พร้อมมอเตอร์โชว์นี้

ขณะที่เชอรี่ กรุ๊ป ซึ่งเตรียมพร้อมกับตลาดบ้านเรา โดยราว ๆ กลางเดือนมีนาคมนี้ตรงกับช่วงมอเตอร์โชว์ จะเปิดตัว OMODA 5 รถ EV แบรนด์แรกลงตลาด โดยช่วงที่ผ่านมาได้ปูพรมโครงข่ายผู้แทนจำหน่ายใน กทม.ให้คลุมทุกพื้นที่กว่า 30 แห่ง และรถ EV ของเชอรี่ที่จะได้เงินอุดหนุน 1 แสนบาท หลังจากได้สมัครเข้าโครงการ EV 3.5

นอกจากนี้ เชอรี่ยังมีแบรนด์ JAECOO ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา เอสยูวี J7 ได้อวดโฉมสู่สายตาทุกคนทั่วโลก ในฐานะรถยนต์ออฟโรดระดับไฮเอนด์สุดยิ่งใหญ่ ยึดมั่นในปรัชญาของแบรนด์ “From Classic, Beyond Classic” ซึ่งก็มีแนวโน้มที่เข้ามาเสริมทัพในตลาดประเทศไทยอีกแบรนด์

V Group ถอนตัวดิสทริบิวเตอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ตลาดรถ EV กำลังไปได้สวย ก็มีบางแบรนด์ที่มีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (GAC AION Thailand) ในเครือกว่างโจว ออโต คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเข้ามาทำตลาด โดยส่งรถ EV รุ่นแรก AION Y Plus ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนปี 2566 พร้อมแต่งตั้งดิสทริบิวเตอร์หรือเมกะดีลเลอร์ 7 ราย ดูแลภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ 99 เมียนมา ดูแลเมียนมา, Harmony Group ดูแลเวียดนาม, EV HUB ดูแลสิงคโปร์

ส่วนในประเทศไทยจะมี 4 ราย ได้แก่ Jinhui ซึ่งเป็นกลุ่มทุนไทย-จีน, AIONIC ในเครือชาริชโฮลดิ้ง ซึ่งมีนายอภิชาติ ลีนุตพงษ์ เป็นผู้ดูแล, วี กรุ๊ป (V Group) และ Harmony Group กลุ่มทุนไทย-จีน โดยก่อนหน้านี้ อภิชาติ ลีนุตพงษ์ ก็ได้ถอนตัวจากดิสทริบิวเตอร์และปล่อยเช่าโชว์รูม AION ให้กับกลุ่มโกลด์ อินทิเกรทไปเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดยังมีกระแสข่าวว่า วี กรุ๊ป คาร์ ก็ตัดสินใจไม่รับบทบาทดิสทริบิวเตอร์ด้วยเช่นกัน ระบุว่าจะทำเฉพาะสาขาของตัวเองที่มีเป็นหลักเท่านั้น

สำหรับกว่างโจว ออโต คอร์ปอเรชั่น จัดเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศจีน ด้วยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 2.7 แสนคันในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 6 แสนคันในปี 2566 โดยการขยายตลาดเข้าประเทศไทย ประกาศใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 6,000 ล้านบาท พร้อมจัดตั้งบริษัทจัดจำหน่ายและโรงงานผลิตในนิคมอุตสาหกรรม WHA