จับตาห้ามตั้งโรงเหล็กแผ่น หลัง ”ซินเคอหยวน” ถล่ม ราคาเหล็กดิ่งอีก 5-10%

โรงงานเหล็ก
ภาพจาก : freepik (แฟ้มภาพ)

ยังไม่ถึงไหน รัฐยังไม่สั่งห้ามตั้งโรงเหล็กแผ่น ขณะที่รายใหญ่อย่าง “ซินเคอหยวน” โครงการก่อสร้างถล่มทำคนเสียชีวิต อาจทำรัฐเปลี่ยนใจเร็วขึ้น ชี้ยังแก้ปัญหาเหล็กทุ่มตลาดจากจีนไม่ได้ บวกภาคอสังหาฯ เมกะโปรเจ็กต์ สินค้าคงค้าง ทำราคาเหล็กทั้งประเทศดิ่งอีก 5-10%

วันที่ 2 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่บริษัท ซินเคอหยวน จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเหล็กแผ่น เหล็กรูปพรรณ และเหล็กลวด อยู่ระหว่างก่อสร้างเพื่อขยายกำลังการผลิตกว่า 5 ล้านตัน ในพื้นที่ ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ได้เกิดอุบัติเหตุเครนพังถล่ม ส่งผลให้มีคนเสียชีวิต 7 ราย ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 และจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 มีนาคม 2569

แหล่งข่าวในภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า คาดว่าโครงการก่อสร้างของซินเคอหยวน อาจต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่ง เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่เกิดขึ้น และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การพิจารณาให้หยุดโครงการก่อสร้างเหล็กแผ่น

เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทาง 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ได้เข้าพบนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือและรายงานถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กทั้งในประเทศและของโลก เพราะผู้ประกอบการเหล็กไทยในประเทศ กำลังได้รับผลกระทบมาต่อเนื่อง จากการทุ่มตลาดของเหล็กที่นำเข้ามาจากจีน ส่งผลให้มีการกดราคาขายในตลาด

บวกกับโครงการก่อสร้างในภาคอสังริมทรัพย์ของเอกชนไม่มีโครงการใหม่เกิดขึ้น ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณจากภาครัฐล่าช้า ส่งผลต่อโครงการเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหมด

Advertisment

จากเหตุดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กทั้งประเทศ โดยเฉพาะราคาเหล็กที่ถูกกดราคาจากการทุ่มตลาดอยู่แล้ว จะทำให้ราคาเหล็กต้องดิ่งลงไปอีก ด้วยสินค้าเหล็กคงค้างในสต๊อกอย่างมาก แนวโน้มอาจจะลดลง 5-10% เช่นเหล็กเส้นราคาอยู่ที่ 23 บาท ร่วงลงมาอยู่ที่ประมาณ 19.80 บาท/กก. เอกชนจึงต้องหันไปผลิตเหล็กเกรดพรีเมี่ยมซึ่งก็จะมีราคาแพงกว่าปกติ หรือประมาณ 30-40 บาท/กก.

ทั้งนี้ ยังพบว่าเหล็กที่นำเข้ามามีทั้งที่ผ่านการตรวจสอบมีใบนำเข้า มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมีทั้งในรูปแบบสำแดงเท็จ เลี่ยงพิกัด เป็นสิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา และแม้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งจับทั้งผู้นำเข้า ผู้ผลิต รวมถึงโกดังที่มีเหล็กไม่ได้มาตรฐาน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

และหากภาครัฐยังไม่มีคำสั่งห้ามตั้งโรงงานเหล็กแผ่น ยังไม่สามารถปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในไทยไว้ได้ นอกจากราคาจะถูกลงจนแข่งขันไม่ได้แล้ว แน่นอนอย่างที่คาดการณ์ไว้ ปี 2567 น่าจะเห็นบริษัทผู้รับเหมาปิดกิจการ และนั่นจะส่งผลให้มีเหล็กปิดกิจการอีกเช่นกัน

ปัจจุบันเหล็กแผ่นมีการผลิตอยู่ถึง 9 ล้านตัน แต่ใช้ในประเทศเพียง 2.5-3.4 ล้านตันเท่านั้น ทำให้มีส่วนเกินเหลือใช้กว่า 20%

Advertisment

ขณะที่ภาคเอกชน ยังคงยืนข้อเสนอให้รัฐควบคุมการออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าเหล็ก (มอก.) ให้กับผู้นำเข้ารายใหม่ รวมถึงขอให้ทำ มอก.เหล็กตัวอื่นเพิ่ม ขยายเวลาประกาศห้ามตั้งโรงเหล็กเส้นออกไปอีก 5 ปี เร่งทำยุทธศาสตร์ การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0