ส่องค้าชายแดน ไตรมาส 2 ฝ่าปมร้อนเมียนมา-เงินเฟ้อ สปป.ลาว

Border
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

เป้าหมายการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570 จะขับเคลื่อนไปอย่างไร นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก จากปี 2566 ที่ยอดการค้าชายแดนและค้าผ่านแดนของไทย ติดลบ 2.6% มูลค่า 1.74 ล้านล้านบาท

ซึ่งล่าสุดยอดการค้าชายแดน-ผ่านแดนของไทย 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ปี 2567 มีมูลค่ารวม 269,854 ล้านบาท ลดลง 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออก 146,231 ล้านบาท ขยายตัว 1.2% และการนำเข้า 123,622 ล้านบาท ลดลง 2.3% ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 22,609 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาเฉพาะการค้าชายแดน 2 เดือนแรก ประเทศคู่ค้าที่ไทยส่งออกไปเพิ่มขึ้น คือ สปป.ลาว ขยายตัว 15.5% ขณะที่ตลาดมาเลเซีย ลดลง 4.1% เมียนมาลดลง 12.2% และกัมพูชา ลดลง 6.6% ส่วนการค้าข้ามแดน ตลาดที่ขยายตัว คือ จีน ขยายตัว 14.5% ขณะที่สิงคโปร์ ลดลง 26.8% เวียดนาม ลดลง 14%

ลุย 4 ยุทธศาสตร์ สู่เป้าหมาย

ในเวลา 10 เดือนนับจากนี้ จะมีทิศทางการผลักดันการค้าชายแดนอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ฉายภาพการผลักดันการค้าชายแดนตามเป้าหมายจากที่ได้หารือกับภาคเอกชน คาดว่าปีนี้จะสามารถผลักดันยอดการค้าชายแดน ขยายตัว 1%

รณรงค์ พูลพิพัฒน์
รณรงค์ พูลพิพัฒน์

โดยจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์สำคัญ ปี 2567-2570 ทั้ง 4 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดนและระบบขนส่ง/
โลจิสติกส์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน โดยวางเป้าหมายดันค้าชายแดนและผ่านแดนโต 2 ล้านล้านบาทได้ ภายในปี 2570

Advertisment

4 อนุกรรมการลุย

หลังจากที่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะเป็นกลไกให้ทุกฝ่ายเดินหน้า ซึ่งในช่วงไตรมาส 1 ทางคณะอนุกรรมการส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งกรมเป็นประธาน ได้สรุปแผนงานส่งเสริมการค้าชายแดนด้วยการเร่งให้ผู้ส่งออกเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ต่าง ๆ

ซึ่งได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเป็น 0% การขอออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นต้น รวมไปถึงแก้ไขปัญหาอุปสรรค อำนวยความสะดวกทางการค้า การจัดศูนย์บริการค้าชายแดนแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service : OSS) ที่ จ.นครพนม หนองคาย และมุกดาหาร และจะมีเพิ่มที่จังหวัดเชียงราย

ขณะเดียวกันได้พัฒนาด่านการค้าชายแดน จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก จังหวัดพะเยา เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและลดขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นอุปสรรค

ส่วนคณะอนุกรรมการ ยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดน และระบบขนส่ง โลจิสติกส์ ที่มีอธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธาน ประชุมครั้งที่ 1/2567 ไปเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ได้ข้อสรุปในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง เพื่อรองรับการพัฒนาสถานีรถไฟนาทา เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ

Advertisment

ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย การต่อยอดระบบ e-Payment ทบทวนระเบียบ และมาตรการพิธีการศุลกากรให้เหมาะสม และการพัฒนาการรับข้อมูลคำขอใบอนุญาต/ใบรับรองแบบ Single Submission ในกลุ่มสินค้าเกษตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบปรับปรุงระบบงาน คาดว่าจะสามารถทดสอบการยื่นคำขอได้ภายในปี 2567

โดยในไตรมาส 2 ทางคณะอนุกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นประธาน คาดว่าจะมีการหารือเร็ว ๆ นี้

ปลดล็อกอุปสรรคค้าชายแดน

ข้อสรุปที่ภาคเอกชนสะท้อนปัญหาที่ต้องการให้รัฐแก้ไข คือ ยกระดับจุดผ่อนปรนที่มีศักยภาพเป็นจุดผ่านแดนถาวร เพื่อขยายมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน ภาคเอกชนเสนอ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจุดผ่อนปรนการค้าบ้านซับตารี จังหวัดจันทบุรี

ขณะเดียวกันก็จะมีการผลักดันการสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยได้สำรวจพื้นที่ก่อสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมร่วมกัน ก่อนที่จะกำหนดกรอบการดำเนินงานก่อสร้าง ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 คาดว่าฝ่ายไทยจะก่อสร้างแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และฝ่ายมาเลเซียคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2569

สำหรับการพัฒนาปรับปรุงสภาพเส้นทางเชื่อมโยงขนส่ง-โลจิสติกส์ หมายเลข R12 (นครพนม-คำม่วน-นาเพ้า) ระยะทาง 16 กิโลเมตรใน สปป.ลาว ซึ่งสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) อยู่ระหว่างนำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาว ในการปรับปรุงเส้นทางดังกล่าว ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้

กราฟฟิก ชายแดน

สำหรับการผลักดันการใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวระหว่างไทยกับกัมพูชา หลังจากที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายพบกัน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ เอกชนยังขอให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่น ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเจรจากับธนาคารของ สปป.ลาว และกัมพูชา ในการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เพื่อทำธุรกรรมการค้าระหว่างกัน

การขอให้กรมสรรพากรศึกษาและส่งเสริมให้มีการทำ Tax Refund ด่านชายแดนต่าง ๆ ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนในพื้นที่ให้เติบโต และจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจากสรุปผลของภาคเอกชนที่หารือต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ไข โดยเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานแต่รัฐบาลก็จะเร่งเดินหน้าผลักดันให้เต็มที่ เพื่อให้อำนวยความสะดวกกับผู้ประกอบการให้มากที่สุด

ปัจจัยบวก-ความท้าทาย

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ปัจจัยท้าทายที่มีผลกระทบต่อการค้าชายแดน-ผ่านแดน จากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาการสู้รบในประเทศเมียนมามีผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า ผู้ส่งออกต้องปรับเปลี่ยนเส้นทาง เพื่อลดความเสี่ยงในการขนส่งสินค้า ขณะที่ปัญหาค่าเงินและเงินเฟ้อยังเป็นประเด็นสำคัญใน สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อและการนำเข้าสินค้า

ขณะที่ปัจจัยบวก จากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภครวมไปถึงสินค้าของไทยยังเป็นที่ต้องการของประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่าสินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีโอกาสที่ดีเช่นกัน

มหกรรมค้าชายแดน

กรมมีแนวทางการจัดกิจกรรมผลักดันการค้าชายแดน ปี 2567 โดยจะจัดมหกรรมค้าชายแดน 3 ครั้ง ซึ่งจัดไปแล้ว 1 ครั้ง ที่ จ.มุกดาหาร ส่วนในครึ่งปีหลัง กรมอยู่ระหว่างการพิจารณา พื้นที่ 1-2 จังหวัด เบื้องต้นมองถึง จ.กาญจนบุรี คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

นายรณรงค์ให้บทสรุปว่า ปี 2567 ยังเชื่อมั่นว่าจากการเร่งแก้ปัญหาและลดอุปสรรคการค้าชายแดนและผ่านแดนรวมไปถึงการจัดมหกรรมการค้าชายแดนจะเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้มูลค่าการค้าชายแดนขยายตัวได้ตามเป้าหมายในปีนี้