ส่งออกไตรมาส 2 คว้า 2% รัฐ-เอกชนลุยตลาดใหม่

export
ภาพจาก : CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP

ส่งออก Q2 ฝ่าความท้าทายสู่เป้าหมาย 2% “ส.อ.ท.-สรท.” จับตาปมขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศขยายวง-ยืดเยื้อ หวั่นราคาน้ำมันทะลุ 80 เหรียญสหรัฐ ไทยดันสินค้าดาวรุ่ง “ยางรถยนต์-อาหารแปรรูป-ข้าว” จับตาสินค้าเสี่ยงส่งออกอืด “รถสันดาปฮาร์ดดิสก์ผลิตภัณฑ์พลาสติก” ด้าน สนค. แนะเอกชนลุยตลาดส่งออกใหม่ศักยภาพสูง 3 กลุ่ม 23 ประเทศ

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ผ่านไปช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) ไทยส่งออกไปแล้ว 46,034.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.7% แต่หากคิดเป็นเงินบาท จะมีมูลค่า 1,611,719 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้ามูลค่า 49,346.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.9% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 1,747,195 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้า 3,311.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 135,476 ล้านบาท ตลาดใหญ่ 3 อันดับแรกยังคงเป็น สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น (ตามกราฟิก)

หากเจาะลึกไปยังภาพตลาดส่งออกในช่วง 2 เดือนแรก จะพบว่า 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มตลาดหลัก ขยายตัว 6.5% สหรัฐ 14.6% สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) 3.9% อาเซียน 9.0% CLMV 10.1% กลุ่ม CLMV ขยายตัว 10.1% ส่วนญี่ปุ่น ติดลบ 2.5% และจีน ติดลบ 2.0% 2) กลุ่มตลาดรอง ขยายตัว 6.1% แบ่งเป็นตลาดที่ขยายตัวคือ ฮ่องกง ขยายตัว 32.7% ไต้หวัน 4.6% ทวีปออสเตรเลีย 26.8% ละตินอเมริกา ขยายตัว 1.9% กลุ่ม CIS ขยายตัว 54.7% ขณะที่ตลาดรองที่ติดลบ คือ เอเชียใต้ติดลบ 1.4% เกาหลีใต้ ลบ 8.4% ตะวันออกกลาง ลบ 3.8% แอฟริกา ลบ 21% และสหราชอาณาจักร ลบ 4.6% และ 3) กลุ่มตลาดอื่น ๆ ขยายตัว 55.3% ซึ่งหลักก็คือสวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 108% แล้วคำถามคือ แนวโน้มการส่งออกไตรมาส 2 ท่ามกลางความท้าทายต่อเนื่องจากไตรมาส 1 จะมีทิศทางอย่างไร

พาณิชย์ดันเป้า 1-2% ปี’67

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไตรมาส 2 ยังต้องติดตามทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่อาจจะส่งผลกระทบ ประกอบกับฐานการส่งออกเดือนมีนาคม 2566 สูงมาก 28,004.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกของไทยจะยังโตได้ต่อเนื่อง โดยในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ทำงานหนักเพื่อผลักดันให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 1-2%

ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกจากนี้ของไทย คาดว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกของการฟื้นตัวภาคการผลิต เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สินค้าเกษตรยังมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว สินค้าอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เติบโตตามกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล

ส่วนปัจจัยลบต้องจับตาการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลัก ยังขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ และมีความไม่แน่นอนอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้ รวมไปถึงตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่ฟื้นตัวล่าช้า ปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อสินค้าเกษตร ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและหามาตรการรองรับต่อไป

ส่องโอกาสตลาดสำคัญ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ตลาดส่งออกศักยภาพใหม่ โดยพิจารณาจากความสามารถในการนำเข้า โดยวิเคราะห์จากดัชนีชี้วัดศักยภาพการนำเข้า (IPI) ที่วัดจากตัวแปร 34 ตัวชี้วัดใน 6 มิติ ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจมหภาค การค้ากับต่างประเทศ ต้นทุนการค้าระหว่างประเทศ โครงสร้างพื้นฐานทางการค้า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ร่วมกับดัชนีชี้วัดความสอดคล้องทางด้านการค้ากับไทย ประกอบด้วย ดัชนีความสอดคล้องทางการค้า (TCI) และดัชนีความสัมพันธ์ทางการค้า (TCD) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 23 ประเทศ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 กลุ่มประเทศคู่ค้ามีศักยภาพการนำเข้าสูงและไทยส่งออกไปในสัดส่วนที่สูง 11 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อิสราเอล แคนาดา เม็กซิโก ชิลี และรัสเซีย สำหรับแนวทางส่งเสริมการส่งออกที่สำคัญ คือ ขยายความร่วมมือและเปิดเสรีการค้าระหว่างกันมากขึ้น ตลอดจนปรับปรุงพัฒนาคุณภาพ และรักษามาตรฐานสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งหาช่องทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับศักยภาพการนำเข้าของคู่ค้า

กลุ่มที่ 2 กลุ่มประเทศคู่ค้ามีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ระดับมูลค่าส่งออกของไทยไปประเทศนั้น ๆ ยังอยู่ในระดับปานกลางถึงน้อย 3 ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ อาเซอร์ไบจาน และคาซัคสถาน ส่วนแนวทางส่งเสริมการส่งออกที่สำคัญ คือ การขยายความร่วมมือและเปิดเสรีการค้าระหว่างกันมากขึ้น และเร่งศึกษาตลาดเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการค้า

กลุ่มที่ 3 ประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพการนำเข้าปานกลาง แต่ความต้องการซื้อตรงกับความต้องการขายอยู่ในระดับสูง ตลาดในกลุ่มนี้ 9 ประเทศ ได้แก่ โมร็อกโก เซอร์เบีย โคลอมเบีย บาห์เรน ยูเครน อุรุกวัย อาร์เมเนีย กานา และโบลิเวีย ส่วนแนวทางส่งเสริมการส่งออกที่สำคัญ คือ ศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดกลุ่มนี้ให้ได้มากขึ้นในอนาคต

“แม้ว่าตลาดเหล่านี้จะมีสัดส่วนไม่มากในปัจจุบัน แต่มีโอกาสขยายส่วนแบ่งการตลาดได้ กระทรวงพาณิชย์จะเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า ขยายความร่วมมือทางการค้า เปิดตลาดการค้าเสรีมากขึ้น รวมถึงศึกษากฎระเบียบในการนำเข้าและแนวโน้มความต้องการสินค้าเพื่อช่วยผู้ประกอบการให้สามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ได้อย่างแข็งแกร่ง คาดว่าจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าไทยให้ขยายตัวมากขึ้นในอนาคต”

ห่วงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวถึงการส่งออกไทยปี 2567 คาดว่าจะยังขยายตัว 2-3% จากสัญญาณเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่ได้รีบลดดอกเบี้ยเร็วและแรงอย่างนักวิเคราะห์คาดการณ์ ส่วนเศรษฐกิจจีนก็เริ่มมีสัญญาณบวก นอกจากนี้ ทิศทางนโยบายการเงินอังกฤษ และยุโรปก็มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยเช่นกัน

“ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยประเทศที่แบ่งขั้วชัดเจนจะหันมาค้ากับประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขัดแย้งกัน ประเทศไทยจะต้องหาโอกาสสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยเลือกกลยุทธ์ที่เฉพาะเจาะจงกับบริบทของแต่ละภาคการผลิตในแต่ละตลาดส่งออก ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตและความเข้มข้นในการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม โดยสินค้าส่งออกไทยที่ยังไปได้ดี ยังคงเป็นยางรถยนต์ และเนื้อสัตว์แปรรูป ส่วนสินค้าที่ส่งออกยังไม่ค่อยดี เช่น รถยนต์สันดาป Hard Disk Drive (HDD) และผลิตภัณฑ์พลาสติก”

สรท.ยังมั่นใจส่งออก Q2 โต 2%

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกเดือนมีนาคม 2567 คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 25,500-26,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ “ต่ำกว่า” เดือนเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2567 จะส่งออกได้รวม 71,500-72,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1-2% และไตรมาส 2 คาดว่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ดี 1-2% เช่นกัน ประเมินว่าจะอยู่ที่ 71,600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกเด่นคาดว่าจะเป็น ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งอยู่ในกลุ่มอีวีที่กำลังเติบโต รวมไปถึงผลไม้ ส่วนสินค้าอื่น ๆ มองว่ายังคงทรงตัว

จากที่ติดตามภาวะการขนส่งทางทะเลไม่น่ากังวลแล้วเพราะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แม้ตอนนี้จะยังมีราคาค่าระวางสูง แต่อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลง เนื่องจากเรือขนส่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น อิสราเอล-ฮามาส ยูเครน-รัสเซีย ปัญหาทะเลแดง ว่าอยู่ในวงจำกัด หรือขยายวงมากขึ้น เพราะจะมีผลกระทบต่อราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังมองว่าราคาน้ำมันคงจะไม่สูงถึง 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะความต้องการน้ำมันยังคงชะลอตัว จึงต้องการให้รัฐบาลดูแลเรื่องนี้ ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่า 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็นผลดีและอานิสงส์ให้กับสินค้าเกษตรของไทยในช่วงนี้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

สมรภูมิตลาดข้าวเดือด

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวของไทยในเดือนมีนาคม 2567 คาดว่าจะมีปริมาณ 800,000 ตัน ส่งผลให้ไตรมาสแรก 2567 ไทยจะส่งออกได้ 2.5 ล้านตัน และผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาส่งมอบข้าวขาวและข้าวนึ่ง ที่ยังต้องส่งมอบให้ผู้ซื้อทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รวมทั้งตลาดหลักในแอฟริกา และตะวันออกกลาง คาดว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งสมาคมคาดการณ์ภาพรวมการส่งออกข้าวปี 2567 จะมีปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ก่อนที่ส่งออกได้ 8.76 ล้านตัน ซึ่งนับเป็นยอดที่สูงสุดในรอบ 5 ปีตั้งแต่ปี 2561

“ตลาดอเมริกาและเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดข้าวหอมมะลิยังคงนำเข้าอย่างต่อเนื่องเพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปรังของไทยเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาท ที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลง ช่วยทำให้ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ และจูงใจให้ผู้ซื้อหันมาหาข้าวไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกในไตรมาส 2 ต้องติดตามสถานการณ์ผลผลิตข้าวของเวียดนามและจีน ซึ่งจะเป็นตัวกดดันการส่งออกข้าวไทย รวมไปถึงผลผลิตข้าวนาปรังของไทย ให้มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น”

ขณะที่ราคาข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่งปากีสถานและเวียดนาม เฉลี่ย 40 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยราคาข้าวไทย ข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 27 มีนาคม 2567 ตันละ 601 เหรียญสหรัฐ ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม และปากีสถาน ตันละ 582-586 และ 605-609 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทย ตันละ 606 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียและปากีสถาน ตันละ 551-555 และ 618-622 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ