ประธาน กมธ.อุตสาหกรรม ลุยถก 6 หน่วยงาน สางปมกากแคดเมียม

ประธาน กมธ.อุตสาหกรรมเสนอให้เปลี่ยนวิธีขนย้ายกากแคดเมียมไป จ.ตาก โดยใส่ตู้คอนเทนเนอร์ที่ซีลอย่างดี เพื่อป้องกันการพุ่งกระจาย พร้อมเสนอให้ของบฯกลางจากรัฐบาลดำเนินการแล้วค่อยฟ้อง เรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการทีหลัง

วันที่ 17 เมษายน 2567 นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ. เพื่อพิจารณาเรื่องกากแคดเมียมว่า กมธ.ได้เชิญ 6 หน่วยงานมาประชุมแก้ปัญหากากแคดเมียม

โดยให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมาบูรณาการหลักร่วมกับ 5 หน่วยงาน พร้อมได้รับทราบจากข่าวว่าจะมีการเริ่มเคลื่อนย้ายกากแร่แคดเมียมในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า ทำไมถึงขนย้ายช้า เพราะอะไร ตนจะได้สอบถามในที่ประชุม กมธ. ว่าจะเลื่อนการเคลื่อนย้ายให้เร็วกว่าวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ได้หรือไม่

ทั้งนี้ ในเรื่องการขนย้ายตนเห็นว่า ควรจะมีตู้คอนเทรนเนอร์มาบรรจุ เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายระหว่างขนย้ายแคดเมียม เพื่อจะได้ป้องกันปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยบริเวณโดยรอบ โดยจะมีการเสนอให้ซีล 2 รอบ และใส่ไปในตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแล้วค่อยขนย้ายไป จ.ตาก โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้รัฐก็ต้องออกงบประมาณดำเนินการไปก่อน แล้วไปฟ้องร้องค่าใช้จ่ายกับผู้ประกอบการทั้งหมด หากจะรอให้ผู้ประกอบการพร้อม ตนคิดว่าไม่ทันและจะเป็นอันตรายต่อพี่น้องประชาชน

นายอัครเดชกล่าวอีกว่า กมธ. ได้มีการสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่ได้ลงพื้นที่จริง แต่เรามีแผนที่จะลงไปติดตามการฝังกลบแคดเมียมที่ จ.ตาก เดิมวางไว้ประมาณต้นพฤษภาคม แต่เนื่องจากมีการเลื่อนการกำหนดการขนย้าย ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ก็ต้องมาหารือในที่ประชุม กมธ.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจริง ๆ แล้ว จะสามารถขนย้ายได้เมื่อไหร่ เพราะเดิมทราบจากระทรวงอุตสาหกรรมการว่า จะเริ่มมีการขนย้ายประมาณวันที่ 17 เมษายน 2567 จึงต้องสอบถามเหตุผลจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มาชี้แจงว่าทำไมจึงเลื่อนเป็นวันที่ 7 พฤษภาคม 2567

ลุยตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ

ต่อคำถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ที่ทาง กมธ.ระบุว่า มีข้อมูลเชิงลึกในเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ว่าได้ข้อมูลมาทางไหน นายอัครเดชกล่าวว่า เราทราบเหตุการณ์นี้เพราะมีคนมาร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ในเรื่องของการย้ายกากแร่แคดเมียม ทาง กมธ.จึงได้มีการตรวจสอบประมาณเดือนมกราคมเรายังไม่รู้ว่าเป็นกากแร่อะไร จนรับทราบเบื้องต้นว่า ต้นทางอยู่ที่ จ.ตาก จนมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง

โดย กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวช้องมาสอบ ซึ่งครั้งแรกเราพุ่งเป้าไปที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่เหมืองแร่สังกะสีเก่า แต่ได้ข้อมูลไม่ชัดเจน จนการประชุมนัดที่ 4 เราถึงทราบและแถลงข่าวให้รัฐบาลไปดำเนินการ และให้ประชาชนเฝ้าระวัง ถือเป็นโชคดีของคนไทยที่เราเจอเร็ว ไม่ใช่ให้ประชาชนล้มป่วยก่อนเหมือนในต่างประเทศ แล้วเราค่อยมาสืบหากันว่าประชาชนล้มป่วย เสียชีวิตเพราะอะไร

ส่วนกรณี เจ้าหน้ารัฐที่ถูกร้องเรียนเป็นระดับท้องที่ต้นทาง ปลายทาง หรือกำกับดูแลใบอนุญาต นายอัครเดชกล่าวว่า ในเอกสารที่มีการส่งมาร้องเรียนเบื้องต้นมีทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่มาจากระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนจะเป็นต้นทาง ปลายทาง หรือระดับไหนขอรอให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง

นอกจากนี้ ในที่ประชุม กมธ. ก็จะมีการติดตามการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการต้นทาง ปลายทาง หรือส่วนที่จะเตรียมการส่งออกว่า ละเมิดกฎหมายและผิดกฎหมายข้อไหน และเป็นหน่วยงานไหน

เหตุผลที่ต้องขนไปฝังที่ จ.ตาก

สำหรับการขนย้ายไปฝังกลบที่ จ.ตาก มีความเสี่ยงระหว่างขนย้าย รวมทั้งผลกระทบกับพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงจะดำเนินการอย่างไร

นายอัครเดชกล่าวว่า ในอีไอเอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระบุชัดเจนที่เป็นส่วนหนึ่งที่อนุญาต คือ จ.ตากประกอบการทำเหมืองแร่ และถลุงแร่สังกะสี และกากแร่แคดเมียม ซึ่งในใบอนุญาตมีอีไอเอ ที่ระบุไว้ว่าจะต้องมีการฝังกลบ ที่ จ.ตาก ดังนั้นเมื่อมีการละเมิดอีไอเอ เอาออกมานอกพื้นที่ ขั้นตอนเจ้าหน้าที่รัฐได้มีคำสั่งทางปกครองไปแล้วว่า ให้ขนกลับไปเก็บที่เดิมภายใน 7 วัน เป็นมาตรการทางกฎหมายฉะนั้นต้องขนกลับไปเก็บที่เดิมก่อน

ส่วนอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะย้ายที่ฝังกลบหรือจะดำเนินการอย่างไรกับกากแร่แคดเมียมที่วันนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจก็ต้องไปทำอีไอเอเพิ่ม และต้องศึกษากฎหมายด้วยว่าอนุญาตให้ทำอย่างไร และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่านักวิชาการหรือใครอยากให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้มันทำไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายก่อน

จีนเทาเกี่ยวหรือไม่

เมื่อถามว่า มีข้อมูลทุนจีนเทาเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ประธาน กมธ.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการข่าวทราบว่า ผู้ประกอบการต่างประเทศที่เป็นคนจีน เตรียมส่งออก และมีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว มีความเชื่อมโยงกันหมดในตัวละคร ตั้งแต่ต้นทางที่ จ.สมุทรสาคร ก็เป็นคนจีน จะมีการขนย้ายไปที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเตรียมส่งออกก็เป็นคนจีน

เจ้าของโรงงานที่ไปตรวจพบกากแร่แคดเมืยม ที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเป็นผู้ประกอบการคนจีนที่ กมธ.อุตสาหกรรมเคยทำเรื่องนี้ พบว่าโรงงานทำผิดกฎหมายและให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ไปจับกุมดำเนินคดีมาแล้ว จะเห็นได้ว่าตัวละครที่เป็นคนจีนมีทั้งหมด 3 ตัวละคร ตัวละครสุดท้ายต้นทาง

ที่ จ.สมุทรสาครที่เป็นโรงหลอม ก็มีผู้ประกอบการคนจีนที่สวมสิทธิหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่ กมธ.กำลังจะสอบว่าจริง ๆ แล้ว มีการกระทำความผิดตามที่ประกอบการโรงหลอมคนไทยร้องเรียนมาหรือไม่ จึงจะเห็นได้ว่ามีทั้งหมด 4 ตัวละครที่เป็นคนจีน ซึ่งเชื่อมโยงกันหมดเป็นเครือข่าย

เสนอตั้งเป็นวาระแห่งชาติ

“ผมจึงเรียกร้องให้นายกฯ หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นวาระแห่งชาติในการดำเนินการกับนักลงทุนจีนสีเทาทางด้านอุตสาหกรรมที่ละเมิดกฎหมาย เพราะ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ทุนจีนก็กระทำความผิดซ้ำซาก ทำให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องชาวชลบุรีอย่างต่อเนื่องรุนแรง ซึ่งทาง กมธ.เคยสอบสวนและให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินคดีมาแล้ว” นายอัครเดชกล่าว

เมื่อถามถึงผลตรวจปัสสาวะประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จะต้องสอบ หรือไม่ว่าแคดเมียมได้มีการรั่วไหลออกไปแล้วหรือไม่ นายอัครเดชกล่าวว่า ที่ จ.สมุทรสาครได้รับทราบจากจังหวัดว่า มีการตรวจพบคนในโรงงานมีค่าแคดเมียมเกิน ส่วนนอกโรงงานก็มีค่าแคดเมียมเกินเหมือนกัน ในที่ประชุม กมธ.วันนี้จะได้รับทราบจากจังหวัดสมุทรสาครอย่างเป็นทางการว่าค่าแคดเมียมเกินไปเท่าไหร่ และจะดำเนินอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องไปดูแล และผู้ประกอบการที่กระทำความผิดจะต้องรับผิดชอบด้วย