พาณิชย์เผย 5 เดือนแรกยอดจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เพิ่ม 5% “ก่อสร้าง-อสังหาฯ”มากสุด

กรมพัฒนาธุรกิจฯ เผยจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนพ.ค.มีจำนวน 5,865 ราย เพิ่มขึ้น 1% คาดทั้งปี จดทะเบียนธุรกิจทั้งปี 8 หมื่นราย โต 7.38% เหตุส่งออกขยายตัว การท่องเที่ยวโต

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,865 ราย เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.2560 มูลค่าทุนจดทะเบียน 2.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 33% ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศช่วง 5 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-พ.ค.) มีจำนวน 3.10 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 5%

โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 538 ราย คิดเป็นสัดส่วน 9% ของประเภทธุรกิจที่จัดตั้งใหม่ รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 345 ราย สัดส่วน 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 163 ราย สัดส่วน 3%

ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนพ.ค.2561 มีจำนวน 1,014 ราย ลดลง 6% โดยมีทุนจดทะเบียนเลิกกิจการมูลค่า 4,432 ล้านบาท ลดลง 58% ส่งผลให้ธุรกิจเลิกกิจการช่วง 5 เดือน มีจำนวน 4,897 ราย ลดลง 0.72% ส่วนประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 101 ราย สัดส่วน 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 62 ราย สัดส่วน 6% และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 41 ราย สัดส่วน 4%

นางกุลณี กล่าวว่า กรมฯ คาดว่าในปี 2561 จะมีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่เข้ามาจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 8 หมื่นราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 7.45 หมื่นราย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7.38% เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างชัดเจนจากภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีโอกาสเติบโตจากผลของมาตรการและโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการไทยนิยมยั่งยืน รวมทั้งการเร่งกระบวนการก่อสร้างโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

นอกจากนี้ ภาครัฐยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 ผ่านมาตรการด้านการเงิน และพัฒนาให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ช เป็นต้น